วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

06: พุทโธอัปปมาโณ 1

อย่าพึ่งเชื่อ โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน
IT Man/09.08.56

เวลา post 05-09-2011, 10:32 AM 

พุทโธอัปปมาโณ 
ธัมโมอัปปมาโณ - สังโฆอัปปมาโณ


สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตา ตรัสสอน โดยให้หลักไว้ดังนี้

๑. การคิดถึงเรื่องราวในพระสูตร หรือในพระธรรมวินัยก็ดี จงคิดให้ได้สาระธรรมคือธรรมในธรรม แห่งเรื่องราวในบทนั้นๆ อย่ามุ่งหวังเอาแต่เพียงความจำได้ ให้วกเข้าสู่สัจธรรม ธรรมคือของจริงอยู่เสมอ แล้วพวกเจ้าจักได้ประโยชน์ และเพลิดเพลินอยู่ในธรรมนั้นๆอย่างหาที่สุดมิได้ นี่แหละเจ้าที่เขาเรียกว่า ธัมโมอัปปมาโณ

๒. ในนั้นมีพระอริยสงฆ์ หรือพระอริยเจ้าเป็นตัวดำเนินเรื่อง ชี้ให้เห็นชัดในกฎของกรรมของแต่ละบุคคลที่ไม่เหมือนกัน ให้เห็นอริยสัจคือทุกข์อันสืบเนื่องมาจากกฎของกรรมนั้นๆ ให้เห็นอริยมรรค คือ การบำเพ็ญเพียรเพื่อพ้นทุกข์ ที่ติดอยู่ในสักกายทิฎฐินั้นๆ จนในที่สุดให้เห็นว่าท่านทำอย่างไร จึงได้ซึ่ง อริยผล ในการแสวงหาความพ้นทุกข์ได้ นี่ก็ เป็นสังโฆอัปปมาโณ

๓. เรื่องราวที่เกิดมาเป็นพระสูตรก็ดี พระธรรมวินัยก็ดี พระอภิธรรมก็ดี มาจากคำสั่งสอนของพระตถาคตเจ้า ซึ่งประกาศซึ่งพระธรรม อันเป็นหนทางพ้นทุกข์ อันเป็นแนวทางให้พระอริยสงฆ์เดินตามทางปฏิบัตินี้มาแล้วพ้นทุกข์ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าทุกๆ พระองค์ตรัสเหมือนกันหมด ให้ดับที่เหตุแห่งธรรมนั้น พระพุทธเจ้าเป็นผู้แสดงธรรมให้งามทั้ง ๓ กาล อาทิ กัลยานัง(งามเบื้องต้น คือ งามด้วยศีล มีอธิศีล - มีกรรมบถ ๑๐ พ้นจากอบายภูมิทั้ง ๔) มัชเฌกัลยานัง (งามท่ามกลาง คือ งามด้วยสมาธิจิต มีอธิจิต หมดอารมณ์ ๒ พ้นจากการเกิดมีขันธ์ ๕) ปาริโยสานะกัลยานัง (งามที่สุด คือ งามด้วยปัญญา มีอธิปัญญาตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน ไปนิพพานได้) ยังบุคคล - พรหม - เทวดา ให้งามด้วย ศีล - สมาธิ - ปัญญา ได้เข้าถึงอริยมรรค อริยผล หมดจดแล้วจากกิเลสตามลำดับ นี่ก็เป็น พุทโธอัปปมาโณ นะ

๔. เพราะฉะนั้นการใคร่ครวญในพระธรรมวินัยก็ดี ในพระสูตรก็ดี ในพระอภิธรรมก็ดี เป็นการระลึกถึงพุทธรัตนะ ธัมมะรัตนะ สังฆะรัตนะ เป็นธรรมพ้นโลกที่เจริญอยู่ในจิตของพวกเจ้าอยู่ตลอดเวลา ที่ยังระลึกนึกถึงอยู่นั้น

๕. แต่จงอย่าลืม พระในพระสูตรก็ดี ในพระธรรมก็ดี ขันธ์ ๕ ของท่านไปไหน ตายหมดแล้วใช่ไหม (ก็รับว่าใช่) ก็จงคิดให้ลงที่ตนเองว่าในไม่ช้าร่างกายของเราก็ตาย อย่าหลงลืมความตาย ให้ระลึกนึกถึงเอาไว้เสมอ

๖. แล้วจงคิดว่า ท่านแต่ละองค์นั้นตายแล้ว จิตของท่านไปไหนกันบ้าง พ้นทุกข์ถาวรก็มี พ้นทุกข์ชั่วคราวก็มี กลับลงสู่อบายภูมิ ๔ ให้เกิดทุกข์หนักก็มี ให้ธรรมของท่านสอนในธรรมของเรา พิจารณาและถามจิตของตนเองอยู่เนืองๆ ปรารถนาภพชาติใดเป็นที่ไปปรารถนาพ้นทุกข์อย่างถาวร ปรารถนาพ้นทุกข์ชั่วคราว ปรารถนากลับมาจุติใหม่ให้เกิดทุกข์ หรือปรารถนาอบายภูมิ ๔ เป็นที่ไป ท่านทั้งหลายเป็นครู เป็นบทเรียนสอนเรา สอนธรรมหรือกรรมอันเป็นการกระทำ อันเกิดจากกาย - วาจา - ใจ ของตนเองเป็นที่ตั้ง สอนให้รู้ว่าธรรมที่เบียดเบียนทำให้ทุกข์ในสถานไหนบ้าง ธรรมที่ไม่เบียดเบียนทำให้สุขในสถานไหนบ้าง

๗. พวกเจ้ายังเป็นเสขะบุคคลอยู่ (บุคคลที่ยังต้องตัดกิเลสอยู่) ศึกษาจุดนี้ให้ดีๆ แม้แต่พระตถาคตเจ้าทั้งหลายก็เป็นครู ร่างกายของพระตถาคตเจ้าพ้นโลกไม่ได้ ในที่สุดก็ดับขันธ์ เข้าสู่พระปรินิพพาน แต่จิตของพระตถาคตเจ้าสอนธรรมพ้นโลก ผลของการออกสู่อภิเนษกรมณ์บรรลุอภิเษกพระสัมมาสัมโพธิญาณ จิตตถาคตพ้นโลกแล้ว มีศีล - สมาธิ - ปัญญา ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานแล้ว จึงออกประกาศพระธรรมคำสั่งสอน รื้อขนเวไนยสัตว์ให้พ้นทุกข์ หลุดพ้นจากห้วงวัฏฏะสงสาร ทำหน้าที่พระบรมศาสดา ประกาศพระพุทธศาสนา ตามวาระที่ได้บำเพ็ญบารมีมาตามสมควรแล้ว พระตถาคตเจ้าทุก ๆ พระองค์ก็ต้องทิ้งร่างกาย

๘. เจ้าจงอย่าลืมจุดนี้ ที่ครูทุกท่านสอน มรณานุสสติควบคู่กับลมหายใจเข้า - ออก เหมือนดั่ง องค์สมเด็จพระบรมครู องค์ปัจจุบันตรัสสอนพระอานนท์ว่า ตถาคตนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก หรือนัยหนึ่งยืนยันกับพระสารีบุตรว่า ตถาคตมากด้วยอานาปานัสสติ

๙. ถ้าหากพวกเจ้าอยากได้ดี จงอย่าลืม ๒ จุดนี้ อานาปาทำให้มีสติแจ่มใสระลึกได้อยู่ตลอดเวลา จิตมีกำลังตั้งมั่น การรู้ลมเข้าออก คือ รู้ความไม่เที่ยง หรือนัยหนึ่งความเที่ยงว่า จักต้องตายแน่นอน ในความไม่เที่ยงแห่งลมเข้าหรือลมออกนั้น ๒ จุดนี้จักต้องควบกันไว้เสมอ เชื่อมโยงเข้าไว้ให้ได้เป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกัน ความประมาทจักไม่มี (ทรงหมายความว่าการรู้ลมหรืออานาปาอยู่เสมอ หากลมหยุดความตายก็มาถึง)

๑๐. เมื่อเห็นความไม่เที่ยงของลม เห็นความตาย ก็ย่อมเห็นร่างกายไม่เที่ยงไปด้วย เห็นธาตุ ๔ หรือแม้แต่วิญญาณธาตุ ก็เห็นหมดว่าไม่เที่ยง ความหลงใหลใฝ่ฝันในร่างกายก็จักน้อยลงไปตามลำดับ เห็นไปทั้งเมื่อธาตุ ๔ ไม่เที่ยง บกพร่องอยู่ตลอดเวลา ความเสื่อมของธาตุ ๔ มีความสกปรกเป็นที่รองรับ ไหลเข้า - ไหลออกอยู่ตลอดเวลา เป็นของน่าเบื่อหน่าย เป็นของนำมาซึ่งความทุกข์ เมื่อพิจารณาอย่างนี้ก็ได้ชื่อว่าเข้าถึงครู คือ ได้วิชชามาจริง แล้วนำมาปฏิบัติให้จริง ผลที่ได้ก็จักเป็นผลจริงในทุก ๆ ประการ 


อย่ามุ่งเอาชนะใครให้มุ่งเอาชนะใจตนเอง
สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตา ตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ดังนี้
๑. ปัญหาหรืออุปสรรคอะไรจักเกิดขึ้น จงอย่าเสียใจ ให้ถือว่านั่นคือข้อสอบอารมณ์จิตเป็นสำคัญ ทุกอย่างสำคัญที่กำลังใจ ตั้งมั่นเข้าไว้ให้อยู่ในธรรมพ้นโลก

๒. ธรรมทางโลกจักกระทบเท่าใด นั่นแหละคือไม้เรียวของครูที่ขับเคี่ยวจิตใจ ให้มีกำลังเข้มแข็งยิ่งขึ้น เราไม่หวังจักรบชนะใคร เราหวังรบเพื่อชนะใจของตนเอง

๓. ให้คิดเสียใหม่ว่า ขณะนี้เป็นโอกาสดีแล้ว ที่ได้พบกับการทดสอบกับอารมณ์เยี่ยงนี้ อย่าทำกำลังใจให้ขาดทุน ถ้าจักสอบผ่านก็ต้องตรวจบารมี ๑๐ ให้ครบ มันจักบกพร่องบ้าง ก็รีบดึงกำลังใจเข้มแข็งต่อสู้ใหม่ ไม่ใช่สู้กับเขา แต่สู้กับอารมณ์ใจของเราที่ถูกกระทบนั้น อย่าได้หวั่นไหว

๔. ตรวจสอบวาระจิตเข้าไว้ อย่ามุ่งเอาชนะใคร ให้มุ่งเอาชนะความไม่พอใจ หรือพอใจในอารมณ์ของจิตตนเป็นสำคัญ และให้ไตร่ตรองใคร่ครวญเข้าไว้ รู้กระแสธรรมในจิตของตนอยู่ตลอดเวลาว่า นี่ดำรงอารมณ์ไว้เยี่ยงนี้ ในขณะจิตนี้อยู่ในศีล อยู่ในธรรมอันเพื่อ โลกุตรวิสัย หรือเปล่า อย่าให้อารมณ์จิตแฉลบออกนอกทางธรรมปฏิบัติเป็นอันขาด เผลอบ้างก็ดึงเข้ามาสู่ทางธรรมใหม่ ต่อสู้เรื่อยไป

๕. อิทธิบาท ๔ จงรักษาไว้ให้เต็ม เหนื่อยหน่อย แต่ก็สมควรทำ ทำให้จริงแล้วผลที่ได้จักจริงเป็นที่น่าพอใจ 


อย่าเฉยอย่างลิง ที่กลัวไม้เรียว
สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตา ตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ มีความสำคัญดังนี้
๑. ขอให้พวกเจ้ายุติกรรมที่จักจองเวรกับบุคคลที่มาก่อกวนการทำงานให้กับพระพุทธศาสนา ในวัดท่าซุงของพวกเจ้าลงเสียให้ได้ จงให้อภัยแก่เขา เพราะในไม่ช้าผลของกรรมที่เขาทำเอาไว้ จักสนองเขาเองในภายหน้า เพลานี้จิตของเขาไม่มีความสุข เป็นทุกข์ เพราะไฟโมหะ - โทสะ - โลภะ เผาผลาญ

๒. พวกเจ้าจงยังจิต ให้สงบอยู่ ในธัมมวิจยะ ต่อไปเถิด อริยสัจหรือกฎของกรรมเที่ยงแท้อยู่เสมอ ขอให้ไตร่ตรองจุดนี้ให้ดีๆ สร้างอภัยทานให้เกิด จิตจักมีความสงบเยือกเย็นและจักยอมรับนับถือในกฎของกรรม จิตจักไม่เป็นเวรเป็นภัยแก่ตนเอง คือ รักษาอารมณ์ของตนไว้ให้สงบสุขด้วยพรหมวิหาร ๔ ไม่เบียดเบียนตนเอง ทั้งทางกาย - วาจา - ใจ ก็จักพลอยไม่เบียดเบียนกาย-วาจา-ใจของผู้อื่นด้วย

๓. รักษาพรหมวิหาร ๔ เอาไว้ให้ดีๆ ที่ให้พวกเจ้าวางเฉยกันใน ๒ - ๓ วันนี้ เพื่อให้รู้จักข่มใจอยู่ในตัวอุเบกขาบ้าง ถ้าไม่สั่งอย่างนั้น ก็จักไม่รู้จักอุเบกขากันเลย (ก็ยอมรับว่าเฉยได้ตามคำสั่งเท่านั้น แค่ได้ชั่วคราว)

๔. นั่นเป็นเพียงระงับชั่วคราว ยังไม่ใช่ของจริง เพราะยังไม่ถูกกระทบกระทั่ง เพียงแต่ให้รู้ว่า ระงับให้สงบแล้ว แล้วเป็นสุขอย่างนี้แหละ (ก็นึกถึงลิงที่ถูกฝึกให้อยู่นิ่งๆ เพราะกลัวไม้เรียว สภาพจิตในขณะนี้ก็เป็นอย่างนั้น)

๕. ทรงตรัสว่า ถูกต้อง ใหม่ๆ ลิงจักไม่ยอมเฉย ที่ต้องยืนเฉยๆ เพราะกลัวไม้เรียว แต่พอนานๆ ไปถูกขนาบเข้าบ่อยๆ ลิงก็รู้ว่า นี่เขาสั่งให้ยืนเฉยๆ แต่พวกเจ้าเป็นมนุษย์ ต้องรู้จักใช้ปัญญา มิใช่จักมายืนเฉยๆ อย่างลิงกลัวไม้เรียวไม่ได้ คือ เมื่อถูกสั่งให้เฉยเพื่อจักได้รู้จักตัวอุเบกขาเอาไว้ คือ การรู้จักระงับอารมณ์ไม่ให้ดิ้นรนไปในเรื่องต่าง ๆ ใหม่ ๆ ก็ไม่รู้ว่าเฉยจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร (อย่างลิง) เมื่อถูกสั่งให้เฉย ควรจักพิจารณาตามไปว่า อารมณ์เฉยนั้นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ (ให้รู้ด้วยตนเอง และยอมรับว่าเป็นสุข)

๖. เมื่อเป็นสุข ควรจักเฉยต่อไปไหม ให้ถามตนเองอยู่อย่างนี้ ไม่ใช่ทำตัวเหมือนลิง คิดแต่กลัวไม้เรียวอย่างเดียว ต้องใช้ความเพียรบวกปัญญา ให้จิตมันยอมรับความจริงจนวางเฉยได้ในทุก ๆ กรณี นี่เรียกว่าอุเบกขา ทั้งกาย - วาจา - ใจ โดยยอมรับกฎของกรรม อภัยทานเกิดที่ตรงนี้

๗. บุคคลหากพรหมวิหาร ๔ ทรงได้ไม่เต็มทั้ง ๔ ตัว คำว่าจักอภัยทานให้แก่ผู้ใดนั้นเป็นของไม่จริง เพราะยังเป็นผู้ไม่รู้จักอภัยทานให้แก่กาย - วาจา - ใจของตนเองก่อน ขอให้พวกเจ้ารู้จุดนี้ให้ดีๆ 


รู้ธรรมพ้นโลกดีกว่ารู้ธรรมในโลก
หลวงพ่อฤๅษีท่านเมตตา มาสอนเรื่องนี้ไว้ มีความสำคัญดังนี้
(สาเหตุมาจากเพื่อนของผม ท่านชอบสนใจเรื่องของคนโน้นคนนี้ แล้วนำมาคิดฟุ้งซ่าน เป็นนิวรณ์ทำปัญญาของตนเองให้ถอยหลังอยู่บ่อยๆ)
๑. จะสนใจประวัติของเสือโน่น เสือนี่ไปทำไม ไม่เห็นจะมีประโยชน์ ให้มาสนใจปฏิปทาการปฏิบัติให้เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า ไม่ดีกว่าหรือ

๒. คนเรานี่แปลก อยากรู้โน่นรู้นี่ในสิ่งที่เป็นธรรมอยู่ในโลก ธรรมที่พ้นโลกกลับไม่ค่อยจะสนใจกัน เรื่องของชาวบ้านที่ผ่านไปแล้ว เป็นธรรมของชาวโลก หาสาระอะไรไม่ได้ สู้เอาเวลามาปฏิบัติธรรมกันดีกว่า

๓. ธรรมของพระพุทธเจ้าท่าน ล้วนเป็นธรรมพ้นโลก อยากได้มรรคผลทางธรรมระดับไหน พระองค์มีสอนไว้หมดแล้ว อยู่ที่ว่าเราจะทำได้จริงจังสักแค่ไหนเท่านั้น พระองค์เป็นเพียงผู้ชี้แนะหัวข้อธรรม บอกวิธีปฏิบัติให้เกิดผลไว้โดยละเอียด แต่การปฏิบัติให้เกิดผลอยู่ที่ตัวเรา จะทำจริงสักแค่ไหนเท่านั้น

สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตา ตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ดังนี้
๑. รู้ธรรมพ้นโลกดีกว่ารู้ธรรมในโลก ศึกษาสาระจุดนี้เข้าไว้ เพื่อรู้ประโยชน์อันพึงจักเกิดแก่จิตสืบไปในภายหน้า อย่าสนใจพร่ำเพรื่อ

๒. ให้รู้ไว้ด้วยว่า สิ่งใดควรรู้ สิ่งใดไม่ควรรู้ สิ่งใดควรละ สิ่งใดควรยึด นี่เจ้าจักต้องรู้ไว้ และนำเอาไปปฏิบัติด้วย

๓. การรู้เรื่องของบุคคลอื่น อันเป็นธรรมของโลก ช่วยให้พ้นโลกไม่ได้ แล้วจักไปตามรู้ เพื่อประโยชน์อันใด

๔. จักเป็นการดี ที่เจ้านำเทปท่านฤๅษีไปเปิดฟังในขณะทำงาน จักได้มีทั้งการปฏิบัติธรรมไปในตัวเสร็จ และเป็นการระงับอารมณ์ฟุ้งซ่านของจิตได้เป็นอย่างดี

๕. อย่าเพิ่งไปคิดว่า งานจักออกมาในลักษณะไหน การคาดการณ์ล่วงหน้าเป็นการสร้างความทุกข์ให้แก่จิต สู้ทำงานไปเรื่อย ๆ ดีกว่า ทำโดยเต็มความตั้งใจที่จักทำเพื่อพระนิพพาน งานจักออกมาในรูปเช่นใดก็ตาม ก็ขอให้มีความพอใจ เพราะเจ้ามีความตั้งใจทำเต็มที่แล้ว

๖. กลับมากล่าวถึงเรื่องการฟังเทปธรรมะ ฟังแล้วต้องนำคำสอนนั้น ๆ มาพิจารณาคิด - ใคร่ครวญให้เกิดปัญญาด้วย
 
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน