มงคล ที่ ๕ มีบุญวาสนามาก่อน
ผลไม้พันธุ์เลว ถึงจะใส่ปุ๋ยรดน้ำพรวนดินดีอย่างไรก็ตาม อย่างมากก็ทำให้มีผลดกขึ้นบ้าง แต่จะทำให้มีรสโอชาขึ้นกว่าเดิมนั้นยาก ตรงกันข้าม ผลไม้พันธุ์ดี แม้รดน้ำพรวนดินเพียงพอประมาณ ก็ให้ผลมากเกินคาด รสชาติก็โอชา เช่นกัน ผู้ที่ไม่ได้สั่งสมคุณความดีมาก่อน เมื่อประกอบกิจใดๆ ถึงขยันขันแข็งสักปานไหน ผลแห่งความดีกว่าจะปรากฏเต็มที่ ก็ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักและเสียเวลามาก ส่วนผู้ที่สั่งสมคุณความดีมาก่อน เมื่อทำความดี ผลดีปรากฏเต็มที่ทันตาเห็น ส่งผลให้มีความเจริญก้าวหน้า เหนือกว่าบุคคลทั้งหลายได้อย่างน่าอัศจรรย์
บุญคืออะไร ?
บุญ คือสิ่งซึ่งเกิดขึ้นในจิตใจแล้วทำให้จิตใจใสสะอาด ปราศจากความเศร้าหมองขุ่นมัว ก้าวขึ้นสู่ภูมิที่ดี เกิดขึ้นจากการที่ใจสงบทำให้เลือกคิดเฉพาะสิ่งที่ดี ที่ถูก ที่ควร ที่เป็นประโยชน์ แล้วพูดดี ทำดี ตามที่คิดนั้น
บุญ เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมส่งผลปรุงแต่งใจของเราให้มี คุณภาพดีขึ้น คือ ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว บริสุทธิ์ผุดผ่องสว่างไสว โปร่งโล่ง ไม่อึดอัด อิ่มเอิบ ไม่กระสับกระส่าย ชุ่มชื่นเบาสบาย ผ่อนคลายไม่ตึงเครียด นุ่มนวลควรแก่การใช้งาน และบุญที่เกิดขึ้นนี้ยังสามารถสะสมไว้ในใจได้อีกด้วย
คนทั่วไปแม้จะมองไม่เห็น “บุญ” แต่ก็สามารถรู้อาการของบุญ หรือผลของบุญได้ คือเมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้จิตใจชุ่มชื่นเป็นสุข เปรียบได้กับ “ไฟฟ้า” ซึ่งเรามองไม่เห็นตัวไฟฟ้าโดยตรง แต่เราสามารถรับรู้อาการของไฟฟ้าได้ เช่น เมื่อไฟฟ้าผ่านเข้าไปในหลอดไฟแล้วเกิดแสงสว่างขึ้น หรือเมื่อผ่านเข้าไปในเครื่องปรับอากาศแล้วเกิดความเย็นขึ้น เป็นต้น
มงคล ที่ 5 มีบุญวาสนามาก่อน มงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า
คุณสมบัติของบุญ
๑. ชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาดได้
๒. นำความสุขความเจริญก้าวหน้ามาให้
๓. ติดตามตนไปทุกฝีก้าว แม้ไปเกิดข้ามภพข้ามชาติ
๔. เป็นของเฉพาะตน ใครทำใครได้ โจรลักขโมยไม่ได้
๕. นำมาซึ่งโภคทรัพย์สมบัติทั้งหลาย
๖. ให้มนุษย์สมบัติ ทิพย์สมบัติ นิพพานสมบัติ แก่เราได้
๗. เป็นเกราะป้องกันภัยในวัฏฏสงสาร
๘. เป็นปัจจัยให้บรรลุมรรคผลนิพาน
ประเภทของบุญในกาลก่อน
บุญในกาลก่อนแบ่งเป็น ๒ ชนิด ได้แก่
๑. บุญช่วงไกล คือคุณความดีที่เราทำจากภพชาติก่อน มาจนถึงวันคลอดจากครรภ์มารดา
๒. บุญช่วงใกล้ คือคุณความดีที่เราทำในภพชาติปัจจุบันตั้งแต่คลอดจนถึงวันนี้
บุญช่วงไกล การสั่งสมความดีมาแต่ภพชาติก่อน ส่งผลให้เราเห็นในปัจจุบัน เปรียบเสมือนผลไม้ที่คัดพันธุ์มาดีแล้ว รสโอชะของมันย่อมติดมาในเมล็ด เมื่อนำเมล็ดนั้นมาปลูก ต้นของมันย่อมให้ผลที่รสอร่อยทันทีโดยไม่ต้องทะนุบำรุงมาก คนเราก็เช่นกัน ถ้าในอดีตชาติสะสมความดีมามากพอ เกิดมาชาตินี้ก็เป็นคนใจใส ใจสะอาดบริสุทธิ์มาตั้งแต่เด็ก มีสติปัญญาดีมาแต่กำเนิด รูปร่างสง่างาม ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ มีโอกาสสร้างความดีได้มากกว่าคน ทั้งหลาย ถ้าไม่ประมาทหมั่นสะสมความดีในปัจจุบันเพิ่มขึ้นอีก ก็จะเจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าประมาทไม่เอาใจใส่ในการทำความดีในปัจจุบัน ก็เปรียบเสมือนต้นไม้ยอดด้วน ยากที่จะเจริญเติบโตต่อไปได้
บุญช่วงใกล้ คนที่ทำความดีตั้งแต่เล็กเรื่อยมา เช่น ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ขยันหมั่นเพียร คบคนดีเป็นมิตร ฝึกใจให้ผ่องใสมาตั้งแต่เด็ก ความคิด คำพูด การทำงาน ย่อมดีกว่าบุคคลอื่นในวัยเดียวกัน เมื่อเติบโตขึ้น ย่อมมีความเจริญก้าวหน้ามากกว่าผู้อื่น
เพราะฉะนั้นเราจึงควรสั่งสมบุญ โดยทำความดีเสียตั้งแต่วันนี้ จะ ได้ส่งผลให้มีสติปัญญาดี มีความเฉลียวฉลาด มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตต่อไปในอนาคต ดังเช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งได้ทรงทำความดี สร้างสมบารมีมามากนับภพนับชาติไม่ถ้วนในภพชาติสุดท้ายก็ทรงตั้งใจศึกษาเล่าเรียนตั้งแต่ยังเยาว์ เมื่อทรงออกผบวชก็ตั้งใจบำเพ็ญเพียรเจริญสมาธิภาวนาอย่างเติมที่ จึงสามารถตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เมื่อพระชนม์เพียง ๓๕ พรรษา
ผลของบุญ
บุญเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มีผลกับตัวเรา ๔ ระดับ คือ
๑. ระดับจิตใจ เป็นบุญที่เกิดผลทันที คือทำความดีปุ๊บก็เกิดปั๊บ ไม่ต้อง รอชาติหน้า เกิดขึ้นเองในใจของเรา ทำให้
- สุขภาพทางใจดีขึ้น คือมีใจเยือกเย็น ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวต่อคำ ยกยอหรือตำหนิติเตียน มีใจที่ปลอดโปรง เบาสบาย เป็นสุข
- สมรรถภาพของใจดีขึ้น คือเป็นใจที่สะอาดผ่องใส ใช้คิดเรื่องราวต่างๆ ได้รวดเร็ว ว่องไว ลึกซึ้ง กว้างไกล รอบคอบ เป็นระเบียบ และตัดสิน ใจได้ฉับพลันถูกต้องไม่ลังเล
๒. ระดับบุคลิกภาพ คนที่ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา อย่างสม่ำ-เสมอ จะทำให้มีใจที่สงบ แช่มชื่น เบิกบาน ชุ่มเย็น นอนหลับสบาย ไม่มีความกังวลหม่นหมอง หน้าตาผิวพรรณจึงผ่องใส ใจเปี่ยมไปด้วยบุญ ไม่คิดโลภอยากได้ของใคร ไม่คิดสร้างความเดือดร้อนให้ใคร มีแต่คิดช่วยเหลือเขา จึงมีความมั่นใจในตัวเอง มีความองอาจสง่างามอยู่ในตัว ไปถึงไหนก็สามารถวางตัว ได้พอเหมาะพอดี บุคลิกภาพย่อมดีขึ้นเป็นลำดับ
๓. ระดับวิถีชีวิต วิถีชีวิตของคนเรา เกิดจากการสรุปผลบุญและผลบาปที่เราได้ทำมาตั้งแต่ภพชาติก่อนๆ จนถึงภพชาติปัจจุบัน เป็นผลของบุญระดับจิตใจและระดับบุคลิกภาพร่วมกัน ชักนำให้เราได้รับสิ่งที่น่าปรารถนา ตอบสนองมาจากภายนอก เช่น ได้รับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่การที่เราทำดี แล้ววิถีชีวิตของเราจะดีเต็มที่หรือไม่นั้น ยังขึ้นอยู่กับบุญเก่าหรือบาปในอดีตที่เราเคยทำไว้ด้วย เรื่องการให้ผลบุญและบาป จึงเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน เช่นบางครั้งขณะที่เราตั้งใจทำความดีอยู่ แต่ผลบาปในอดีตตามมาทัน ทำให้ถูกใส่ร้ายป้ายสี หรือประสบเคราะห์กรรม บางคนเข้าใจผิด คิดว่าทำทำดีแล้วไม่ได้ดี ทำให้หมดกำลังใจในการทำความดี
แท้จริงแล้ว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในขณะนั้น ผลบาปที่เราเคยทำในอดีตกำลังส่งผลอยู่ แต่บุญที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันย่อมไม่ไร้ผล เมื่อเราตั้งใจทำบุญ ไปโดยไม่ย่อท้อ และไม่ทำบาปนั้นอีก เคราะห์กรรมนั้นย่อมหมดสิ้นไป และได้รับผลของบุญคือความสุขความสำเร็จได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในที่สุด
๔. ระดับสังคม เมื่อเราทำความดีมาแล้วอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะไปอยู่ สังคมใด บุญก็จะส่งผลให้เป็นบุคคลที่สังคมยอมรับนับถือ ได้เป็นผู้นำของสังคม นั้น และจะเป็นผู้ชักนำสมาชิกในสังคมให้ทำความดีตามอย่าง ทำให้เกิดความสงบร่มเย็น และความเจริญก้าวหน้าขึ้นในสังคมนั้นๆ โดยลำดับ
ตัวอย่างผลของบุญ
ผู้ที่มีอายุยืน เพราะในอดีตไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ผู้ที่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ เพราะในอดีตไม่รังแกหรือทรมานสัตว์
ผู้ที่มีพลานามัยสมบูรณ์ เพราะในอดีตให้ทานด้วยข้าวปลาอาหาร มามาก
ผู้ที่มีผิวพรรณงาม เพราะในอดีตรักษาศีล และให้ทานด้วยเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มมามาก
ผู้ที่มีอำนาจมีคนเกรงใจ เพราะในอดีตมีมุทิตาจิต ใครทำความดีก็ อนุโมทนา ไม่อิฉาริษยาใคร
ผู้ที่ร่ำรวยมีโภคทรัพย์มาก เพราะในอดีตให้ทานมามาก
ผู้ที่เกิดในตระกูลสูง เพราะในอดีตบูชาบุคคลที่ควรบูชามามาก
ผู้ที่ฉลาดมีสติปัญญาดี เพราะในอดีตคบบัณฑิต ฝึกสมาธิเจริญ ภาวนา มามากและไม่ดื่มสุรายาเมา
วิธีทำบุญ
การทำความดีทุกอย่างล้วนได้ผลออกมาเป็นบุญทั้งสิ้นแต่เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจและนำไปปฏิบัติ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแบ่งวิธีทำบุญออกเป็น ๑๐ ประการ เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ได้แก่
๑. ทาน คือการบริจาคทรัพย์สิ่งของแก่ผู้ที่ควรให้
๒. ศีล คือการสำรวมกาย วาจา ให้สงบเรียบร้อย ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่น
๓. ภาวนา คือการสวดมนต์ทำสมาธิ อ่านหนังสือธรรมะ ฯลฯ
๔. อปจายนะ คือการมีความเคารพอ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรม
๕. เวยยาวัจจะ คือการขวนขวายช่วยเหลือในกิจที่ชอบ
๖. ปัตติทานะ คือการอุทิศส่วนบุญแก่ผู้อื่น
๗. ปัตตานุโมทนา คือการอนุโมทนาบุญที่ผู้อื่นทำ
๘. ธัมมัสสวนะ คือการฟังธรรม
๙. ธัมมเทสนา คือการแสดงธรรม
๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ คือการปรับปรุงความเห็นของตนให้ถูกต้อง
บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ นี้ สรุปลงได้เป็น บุญกิริยาวัตถุ ๓ ได้ดังนี้
- ทาน ได้แก่ ทาน ปัตติทานะ ปัตตานโมทนาเป็นการฆ่าความ ตระหนี่ออกจากใจ
- ศีล ได้แก่ ศีล อปจายนะ เวยยาวัจจะ เป็นการป้องกันตนไม่ให้ทำชั่ว
- ภาวนา ได้แก่ ภาวนา ธัมมัสสวนะ ธัมมเทสนา เป็นการฝึกตัวเองให้ฉลาด มีสติปัญญาดี
ส่วน ทิฏฐุชุกัมม์ นั้น สงเคราะห์เข้าได้ทั้งใน ทาน ศีล และภาวนา
หมายเหตุอรรถกถาและฎีกาบางแห่ง จัดทิฏฐุชุกัมม์ไว้ในภาวนา ส่วนธัมมเทสนานั้นอาจจัดจัดไว้ในทานก็ได้ โดยถือเป็นธรรมทาน
บุญวาสนาไม่ใช่อภินิหาร
บุญวาสนาไม่ใช่อภินิหาร แต่สามารถอธิบายด้วยหลักเหตุผลได้ดังนี้ คนที่จิตสั่งสมแต่บาปหรือความชั่ว จะทำให้ใจมืดมัว กิเลสต่างๆ เข้ายึดครอง ใจได้ง่าย ทำให้เกิดผลร้ายต่อตนเอง เช่น เวลาโกรธจัด ความโกรธเข้ายึดครองใจ ทำให้หัวใจเต้นแรงผิดปกติ ระบบสูบฉีดเลือดผันแปร โลหิตมีการเผาไหม้มาก เกิดอาการร้อนผ่าวตั้งแต่หน้าอกจรดใบหน้า ความร้อนจะทำให้ผิวหยาบกร้าน ไม่มีน้ำมีนวล อาหารไม่ย่อย ท้องอืด เกิดความเครียดคนโกรธง่าย จึงเป็นคนเจ้าทุกข์ หงุดหงิด พูดจาห้วนแบบมะนาวไม่มีน้ำ เวลาโกรธจะขาดสติ คิดอ่านการใดก็ผิดพลาดได้ง่าย
ส่วนคนที่จิตสั่งสมแต่บุญหรือความดี จะทำให้ใจผ่องใสอยู่เป็นปกติ กิเลสต่างๆ เข้ายึดครองใจได้ยาก เพราะมีสติคอยควบคุมใจไว้ สามารถสอนตนเองและตักเตือนตนเองไม่ให้ทำความชั่วได้ จึงมีจิตใจที่สงบเยือกเย็น สดชื่น ผ่องใส ระบบการทำงานของร่างกายก็เป็นปกติ มีผิวพรรณงาม เสียงไพเราะ กิริยาน่ารัก คิดอ่านการใดก็แจ่มใส ส่งผลให้มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตได้ง่าย
ข้อเตือนใจ
เมื่อทราบว่าการทำบุญเป็นการสั่งสมความดีไว้เพื่อตนเองแล้ว เราจึงไม่ควรประมาทในการทำบุญ ควรทำบุญเท่าที่กำลังความสามารถจะอำนวย ผู้ที่ได้สั่งสมบุญมาดีแล้วแต่เพิกเฉยในการทำบุญเพิ่ม เปรียบเสมือนชาวนาที่เก็บเกี่ยวผลิตผลแล้วแจกจ่ายขายกินหมด ไม่เหลือไว้ทำพันธุ์ต่อไปภายหน้าเลย เขาย่อมเดือดร้อนในฤดูกาลทำนาครั้งต่อไป
ความดีทุกอย่างที่เราทำไว้ แม้จะไม่ให้ผลในปัจจุบันทันตาก็ไม่สูญเปล่า ความดีเหล่านั้นจะรวมกันเข้าปรุงแต่งจิตใจให้ดีขึ้น สิ่งนี้แหละคือ บุญวาสนา
เราจึงควรเร่งสร้างความดีเสียแต่บัดนี้ โดยหมั่นศึกษาวิชาการ ฝึกฝนตนเองทั้งทางด้านการปรับปรุงคำพูด ความขยันขันแข็ง ทำการงานให้ดีขึ้น และพยายามฝึกใจให้ผ่องใส ด้วยการหมั่นทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาอย่างสม่ำเสมอ คนเช่นนี้จึงเป็นคนมีบุญวาสนาที่แท้จริง
หลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
เราต้องเร่งสร้างบุญใหม่ตั้งแต่บัดนี้ จะได้เป็นบุญเก่าติดตัวไปในวัน หน้า โดยยึดหลักว่า
๑. เช้าใดยังไม่ได้ทำทาน เช้านั้นอย่าเพิ่งทานข้าว
๒. วันใดยังไม่ได้ตั้งใจรักษาศีล วันนั้นอย่าเพิ่งออกจากบ้าน
๓. คืนใดยังไม่ได้สวดมนต์เจริญสมาธิภาวนา คืนนั้นอย่าเพิ่งนอน
เราต้องอดทนฝึกตนให้สร้างความดีเรื่อยไป แม้จะต้องกระทบกระทั่ง กับสิ่งใด มีอุปสรรคมากเพียงไหนก็ปักใจมั่นไม่ย่อท้อ กัดฟันสู้ทำความดีเรื่อยไป
“น้ำหยดทีละหยด ยังสามารถเต็มตุ่มได้ฉันใด บัณฑิตหมั่นสั่งสมบุญทีละน้อย ย่อมเต็มเปี่ยมด้วยบุญฉันนั้น”
ขุ. ธ. ๒๕/๑๙/๓๑
อานิสงส์การมีบุญวาสนามาก่อน
๑. ทำให้มีปัจจัยต่างๆ พร้อม สามารถทำความดีใหม่ได้โดยง่าย
๒. อำนวยประโยชน์ทุกอย่างดังได้กล่าวมาแล้ว
๓. เป็นต้นเหตุแห่งความสุขทุกประการ
๔. เป็นเสบียงติดตัวทั้งภพนี้ภพหน้า จนกว่าจะบรรลุมรรคผลนิพพาน
ฯลฯ