วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

119: ทรงพยากรณ์ว่าพระอชิตะจักเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต


บันทึกภาพต้นฉบับจากบ้านคหบดีตระกูลพงศ์มฆพัฒน์ กทม. (10 มิ.ย. 49)
ทรงพยากรณ์ว่าพระอชิตะจักเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต
ทรงอุบัติในกาลที่มีพระเจ้าจักรพรรดิด้วย

ลำดับนั้นพระบรมครูทรงสถิตเหนือบวรธรรมาสน์ ทอดพระเนตรซึ่งพระอชิตภิกษุแล้ว กระทำพระอาการแย้มพระโอษฐ์ อันว่าพระพุทธรังสีก็โอภาสออกจากเขี้ยวแก้วทั้ง ๔ พร้อมกันกับลำดับแห่งสิตุบาทแห่งพระโลกนาถนั้นรุ่งเรืองไพโรจน์ จึงพระอานนทเถระเจ้าผู้เป็นธรรมภัณฑาคาริกก็ทูลถามว่าเหตุเป็นดังฤๅ? พระพุทธองค์จึงทรงกระทำซึ่งสิตุบาท พระมุนีนาถก็มีพุทธฎีกาตรัสพยากรณ์ทำนายว่า ดูกรอานนท์ อันว่าพระอชิตภิกษุซึ่งเป็นสังฆนวกะนี้จะได้ตรัสเป็นองค์พระชินสีห์ทรงพระนามพระเมตไตรยในอนาคตภายหน้า ในมหาภัทรากัลป์นี้ ด้วยอานิสงส์แห่งวัตถุบูชาแก่ตถาคตด้วยจิตประสาทโสมนัส

ดูกรอานนท์ กาลเมื่อศาสนานี้อันตรธานแล้วจะบังเกิดสัตถันตรกัลป์ เมื่อสัตถันตรกัลป์ล่วงแล้ว มนุษย์ทั้งหลายที่บังเกิดจะมีอายุเจริญขึ้นไปโดยลำดับ ตราบเท่าถึงอสงไขยเป็นกำหนด แล้วจะกลับลดถอยน้อยลงมาจะตั้งอยู่ ๘๐,๐๐๐ ปี ครั้งนั้นเมืองพาราณสี จะเปลี่ยนนามบัญญัติชื่อเกตุมดีมหานครเป็นที่เกษมสุขสโมสรสรรพประชา ครุวนาดุจอาลกมัณฑาเทพธานีอันมีในชั้นจาตุมหาราช กำหนดโดยยาวได้ ๑๒ โยชน์ กว้างได้ ๒ โยชน์มีประมาณกาลนั้น

อันว่าสัตตรัตนปราสาทแห่งพระยามหาปนาทประมาณโดยยาวได้โยชน์หนึ่ง โดยกว้างกึ่งโยชน์ โดยสูงห้าโยชน์ มีพื้นได้ ๗ ชั้นรุ่งเรืองรุจิโรภาส เพียงไพชยันตทิพยปราสาท ประดิษฐานในท่ามกลางพระนคร ด้วยบุญญานุภาพแห่งเชษฐนฬการเทพบุตร เชษฐนฬการเทพบุตรจะจุติจากเทวโลก ลงมาบังเกิดเป็นราชบุตรบรมกษัตริย์ อันเสวยสมบัติในกรุงเกตุมดี จะมีพระนามสังขขัติยกุมาร

กาลเมื่อชนมายุได้ ๗ ขวบ จะสำเร็จรู้ในศิลปะศาสตร์ทั้งปวง เมื่อเจริญวัยวัฒนาการจะได้ราชาภิเษก แลปราสาทนั้นก็จะมาจากคงคา จะได้กระทำอาวาหมงคล แลเคหประเวศน์มังคลราชาภิเษกในปราสาทนั้น จะได้สืบเสวยมไหศวรรย์สันตติวงศ์ดำรงราชพิภพแทนพระราชบิดา แลจะประพฤติในทศจักรวัตติวัตรอันศึกษาในสำนักสุพรหมพราหมณาจารย์

ถึงวันบัณณรสีอุโบสถบุพพัณหกาล สรงสนานมุรธาภิสิตธาราแล้วรักษาอุโบสถศีล ณ เบื้องบนปราสาท ลำดับนั้น จักรแก้วก็เลื่อนลอยขึ้นมาจากมหาสมุทรฝ่ายปาจิณโลกธาตุ ด้วยบุญญฤทธิวิจิตรไปด้วยดุมกง กอปรไปด้วยกำถึง ๑,๐๐๐ แลบริบูรณ์ด้วยอลังการทั้งปวง ลำดับนั้นอันว่า กุญชรช้างแก้วรัตนก็เหมาะมาแต่ตระกูลอุโบสถ แลม้าแก้วดุรังครัตนก็เหาะมาแต่ตระกูลพลาหกในหิมพานต์ แลมณีรัตนก็เลื่อนลอยมาแต่ภูผาวิบุลบรรพต แลนางแก้วก็เลื่อนลอยมาแต่อุตตรกุรุทวีป แลคหบดีรัตนปริณายกรัตนก็บังเกิดขึ้นในพระนครนั้น แลพระยาสังขบรมจักรพัตราธิราชบริบูรณ์ด้วยแก้วทั้ง ๗ ประการ มีอาณาปริวัตแผ่ซ่านไปทั่วทวีปใหญ่ทั้ง ๔ มีทวีปน้อย ๒,๐๐๐ เป็นบริวาร แลสุพรหมพราหมณปุโรหิตาจาริย์นั้นสั่งสอนอรรถธรรมแก่กรุงกษัตริย์สังขจักรพัตราธิราช เป็นที่อภิวาทน์เคารพสักการบูชาแห่งบรมขัตติยาธิบดี