วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

118: เมตไตรยพยากรณปริวรรต


พระพุทธปางลีลา ศิลปะยุคสุโขทัย
เนื้อความย่อ
พระอชิตะเป็นพระโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรูกับพระอัครมเหสีกาญจนา ท่านบวชแล้วได้ติดตามพระพุทธเจ้ามายังกรุงกบิลพัสดุ์ คราเสด็จมาครั้งแรกนั้น พระมหาปชาบดีโคตมีไม่ได้ถวายสิ่งใดเป็นพิเศษแด่พระพุทธเจ้า คราวนี้จึงตั้งพระทัยจะถวายผ้าสาฎกเนื้อดี เพื่อให้ทรงทำเป็นจีวรทรง

พระนางทรงวางแผนผลิตผ้าอย่างละเอียด เริ่มแต่เพาะเมล็ดฝ้ายในอ่างทอง เก็บ ดีด ปั่น เพื่อให้ได้เส้นด้ายพระองค์เองทั้งหมด แล้วจ้างช่างหูกฝีมือเลิศทอเป็นผ้าเนื้อดี สัมผัสนุ่มนวล เสร็จแล้วทรงใส่ผอบแก้วเจือของหอม นำไปทูลถวายในพระนิโครธาราม

พระศาสดาทรงต้องการอนุเคราะห์ให้พระนางได้กุศลมาก และสงฆ์รุ่นต่อไปจะได้ไม่ขาดแคลนปัจจัย ๔ จึงตรัสให้ถวายแก่สงฆ์ ถวายเป็นสังฆทาน ยังความผิดหวังให้เกิดแก่พระนางมาก เพื่อบรรเทาความเสียพระทัยนั้น จึงตรัสพระธรรมเทศนา “ทักขิณาภิวังคสูตร” ว่าด้วยการจำแนกชนิดของทานว่า หากถวายทานเจาะจงผู้รับก็จะได้อานิสงส์น้อย หากถวายเป็นสังฆทานก็จะได้อานิสงส์มาก ทั้งไม่ต้องกังวลว่าจะได้ผู้รับทุศีล เพราะสงฆ์ไม่มีทุศีล

พระนางทรงสดับแล้ว น้อมผ้าเข้าไปถวายพระสารีบุตร แต่ท่านไม่รับ ถวายแก่พระโมคคัลลานะ ท่านก็ไม่รับ แม้พระผู้ใหญ่อื่นๆ ก็ไม่รับ พอถึงพระบวชใหม่คือพระอชิตะ ท่านก็รับ ทำให้พระนางเสียพระทัยอีกครั้ง

พระศาสดาทรงต้องการให้พระมาตุจฉาเกิดศรัทธาพระอชิตะ จึงทรงโยนบาตรหายไปในอากาศ พระอสีติมหาสาวกกราบทูลขออนุญาตตามหาบาตร แต่ไม่มีใครได้บาตรมา พระอชิตะจึงกระทำสัตยาธิษฐานว่า หากตนจะได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ก็ขอให้บาตรนั้นมาปรากฏในมือ ทันทีที่อธิษฐานจบ บาตรก็มาปราฏในมือ ยังความปลื้มปีติให้เกิดแก่พระมาตุจฉา

พระอชิตะนำผ้าสาฎกคู่ใหม่ที่ได้รับ ผืนหนึ่งผูกเป็นเพดาน ผืนหนึ่งฉีกทำม่านไว้ภายในพระคันธกุฎีที่ประทับของพระศาสดา แล้วเปล่งวาจาปรารถนาพุทธภูมิ พระพุทธเจ้าทรงทราบแล้วตรัสพยากรณ์ให้พระอานนท์ฟังว่าความปรารถนาของอชิตภิกษุจักสำเร็จในกาลที่มนุษย์มีอายุแปดหมื่นปี...
พระอชิตะเป็นพระโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรู ติดตามเสด็จมาพระนครกบิลพัสดุ์
พระราชโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรู จักเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หน้า
ในกาลพุทธบาทศาสนาพระสัพพัญญูแห่งเรานั้น พระเมตไตยโพธิสัตว์มาบังเกิดในครรภ์แห่งนางกาญจนาเทวี พระอัครมเหสีพระเจ้าอชาตศัตรูราช ครั้นถ้วนกำหนดทศมาศก็ประสูติจากมาตุคัพโภทร ได้นามกรบัญญัติว่า พระอชิตราชกุมาร ครั้งทรงวัยวัฒนากาล เมื่อพระราชบิดาเลื่อมใสในพระสัพพัญญูพุทธศาสนาแล้ว ได้เห็นพระบวรรูปสิริแห่งพระศาสดาจารย์แลได้สวนาการพระธรรมเทศนาก็มีพระทัยศรัทธาโสมนัส จึงมาดำริว่า พุทธานุภาพนี้เป็นอัศจรรย์โดยยิ่ง แลบุคคลผู้ใดมิได้บำเพ็ญทานรักษาศีลสมาทานอุโบสถ แลมิได้กระทำกุศลบำเพ็ญบารมีต่างๆ ก็มิอาจตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ ผิฉะนั้นควรอาตมะจะตัดซึ่งบ่วง คือ ฆราวาส ละเสียซึ่งหมู่ญาติทั้งปวง มิได้อาลัยในโภคสมบัติออกบรรพชาในพระพุทธศาสนา เมื่อจินตนาดังนี้บมิได้ช้า ก็ทูลลาพระราชบิดาให้ทรงอนุญาตแล้วจึงพาบริวาร ๑,๐๐๐ ออกบวชได้อุปสมแล้ว ก็เล่าเรียนพระพุทธวจนะได้เป็นอันมาก ก็สำแดงธรรมบอกกล่าวพระไตรปิฎกแก่เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งปวง
ครั้นในกาลอุปโภคสมัย เมื่อทักษิณวิภัตตสมาคม พระมหาปชาบดีโคตมีถวายคู่ผ้าแก่พระศาสดาจารย์ กาลนั้นผู้เป็นเจ้าก็รับซึ่งยุคลพัตรทั้งคู่

พระพุทธเจ้าเสด็จมาพระนครกบิลพัสดุ์ ครั้งที่ ๒
พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงวางแผนทอผ้าสาฎก
บัดนี้จะได้รับพระราชทานวิสัชนา ในอนุบุพพิกถาแถลงความในเดิมเหตุว่า ในสมัยครั้งหนึ่ง พระบรมครูเสด็จมาสู่กรุงกบิลพัสดุ์เป็นวารคำรบสอง เสด็จสถิต ณ นิโครธาราม ในกาลนั้นพระมหาปชาบดีโคตรมีพุทธมาตุจฉา จึงทรงพระจินตนาการด้วยพระกมลเบิกบานเบญจปรีดาปราโมทย์ ว่าจำเดิมแต่พระลูกเจ้าของอาตมะมาสู่พระนครนี้ อาตมะมิได้ถวายซึ่งวัตถุสิ่งใดเลย ผิวจะถวายโภชนาหารเล่า บรรดาตระกูลทั้งหลายเป็นอันมากมีขัตติยมหาศาลเป็นอาทิ ก็คอยจะถวายปณีตาหารบิณฑบาตอยู่ทั้งสิ้นด้วยกัน มิฉะนั้นอาตมะจะถวายซึ่งจีวรสาฎกเถิด แท้จริง ผ้าทั้งหลายอันมีในราชคฤหสถาน ผ้าที่หาค่ามิได้ก็มีเป็นอันมาก แต่มิได้ยินดีเต็มศรัทธาอาตมา อย่าเลย อาตมะจะปั่นฝ้ายด้วยหัตถ์ของอาตมาเอง แล้วจะทอให้เนื้อละเอียดดีโดยยิ่งที่จะได้กุศลราศีแก่อาตมาโดยมาก ทรงพระดำริฉะนี้แล้ว จึงให้ช่างทองตีอ่างแล้วไปด้วยทองสุก ๗ อย่าง แล้วให้กรางทองปนกับมัตติกาชาติแลเปือกของหอมอันเจือด้วยจตุมธุรสใส่ลงเต็มอ่างทองทั้ง ๗ แล้วเพาะลงซึ่งเม็ดฝ้ายในอ่างทองนั้น รดด้วยน้ำนมโคอันเจือด้วยกรางทองใส่ลง

ครั้นต้นฝ้ายออกปอยเหลืองดังสีทองดอกกรรณิการ์ แล้วพระมหาปชาบดีก็ทรงเก็บฝ้ายนั้นด้วยพระหัตถ์แล้วใส่ลงในผอบทอง แลทรงเลือกทรงหีบทรงดีดทรงปั่นด้วยพระหัตถ์มิให้ผู้อื่นกระทำ เส้นด้ายนั้นละเอียดยิ่งนักมีสีเหลืองดุจทอง จึงให้หามาซึ่งช่างหูกฝีมือเอก ให้บริโภคซึ่งปณีตาโภชนาหารอันระคนไปด้วยจตุมธุรส แล้วให้ตกแต่งกายนุ่งห่มประดับด้วยวัตถาลังการาภรณ์ต่างๆ แลที่โรงหูกนั้นก็ให้ดาดเพดานในเบื้องบน ห้อยพวงดอกไม้มีข้าวตอกเป็นคำรบห้า แล้วเสด็จลงไปสู่โรงหูกกับด้วยฝูงนางบริวาร ทอดพระเนตรการซึ่งทอผ้านั้นเป็นนิจทุกวันมิได้ขาด กระทำภายในพระราชวัง


นำผ้าสาฎกคู่ เข้าถวายในนิโครธาราม ตรัสให้ถวายสงฆ์มีผลกุศลมากกว่า

แลการทอนั้นสำเร็จได้ผ้าสาฎกสองผืนโดยยาว ๑๔ ศอก กว้าง ๗ ศอกเสมอกัน มีพรรณอันงามรุ่งเรืองดุจกาญจนามาศ เนื้อก็ละเอียดมีมุทุสัมผัสเป็นอันดี แลพระภูษาทั้งคู่เป็นพัสตร์อันหาค่ามิได้สมควรแก่พระสัพพัญญูจะทรง จึงพับใส่ลงในผอบแก้วแล้วยกขึ้นประดิษฐานทูลเหนือพระเศียรเกล้า เสด็จแวดล้อมด้วยคณาเนกนางสักยราชกัญญาอันถือซึ่งสิ่งมีธูปเทียนแลดอกคันธบุปผาสุพรรณภาชนะเป็นอาทิ กับทั้งผ้าทั้งหลายอื่นอีกแสนผืน มีราคาผืนละแสนกหาปณะ ใส่ในผอบทองแสนหนึ่งกับผ้าอื่นอีกพันผืน ราคาผืนละพันกหาปณะใส่ในผอบเงินพันหนึ่งให้ถือตามเสด็จไปสู่นิโครธาราม

ครั้นถึงก็เข้าไปสู่สำนักพระทศพล ซึ่งทรงสถิตบนท่ามกลางพุทธบัลลังก์ ประดับด้วยพระสงฆ์สาวกแวดล้อม รุ่งเรืองด้วยพระสิริวิลาศเป็นอันงาม ดุจศศิมณฑลล้วนแวดล้อมด้วยคณาเนกดาราทั้งปวง อันเลื่อนลอยอยู่บนคัคนัมพรประเทศ เสด็จประเวศในข่ายพระฉพิธพุทธประภาพรรโณภาส ทรงถวายอภิวาทด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วทอดทัศนาพระสรีราพยพแห่งพระพุทธองค์อันทรงพระสิริเสาวภาคย์ ก็ประกอบด้วยเบญจปีติซ่านซาบไปทั่วพระสกลกาย บังเกิดพลวสิเนหาในพระศาสดาจารย์ จึงทรงเผยฝาผอบแก้วแล้วพระหัตถ์ทั้งสองจับซึ่งยุคลพัสตร์ พลางนมัสการกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้ทรงพระภาค อันว่าสุวรรณวัตถยุคลนี้อันใหม่ ข้าพระองค์หีบดีดปั่นฝ้ายด้วยหัตถ์ของตนอุทิศแด่พระทศพล จงทรงพระมหากรุณาอนุเคราะห์ รับซึ่งภูษาทั้งคู่นี้เพื่อจะให้มีประโยชน์แลสุขแก่ข้าพระพุทธเจ้าสิ้นกาลช้านาน

พระพิชิตมารจึงตรัสตอบว่า ดูกรโคตมี จงถวายวัตถยุคลนี้แก่สงฆ์ จะมีผลานิสงส์มากยิ่งกว่าถวายอุทิศแด่ตถาคต ได้ชื่อว่าบูชาตถาคตแลสงฆ์ทั้งปวง แลพระมหาปชาบดีก็กราบทูลอาราธนาให้พระสัพพัญญูทรงรับถึง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ก็ตรัสให้ถวายแก่สงฆ์เหมือนดังนั้น มิได้ทรงรับ

ตรัสให้ถวายแก่สงฆ์ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ
ให้พระมาตุจฉาได้กุศลเจตนาครบ ๖ (ปรารภพระพุทธเจ้า ๓ ปรารภสงฆ์ ๓)
และภิกษุสงฆ์ได้ลาภตลอดอายุพระศาสนา

จึงมีคำปุจฉาว่า ไฉนพระมหาปชาบดีถวายแต่พระพุทธองค์ พระพุทธองค์มิได้ทรงรับ ดำรัสให้ถวายแก่สงฆ์นั้นด้วยเหตุเป็นประการใด? วิสัชนาว่า เหตุจะทรงอนุเคราะห์แก่พระมาตุจฉาด้วยพุทธอาโภคว่า พระมหาปชาบดีปรารภในตถาคตพร้อมไปด้วยเจตนาทั้งสาม คือบุพเจตนา แลบุคคลเจตนา อปราปรเจตนาฉันใด ก็จงปรารภในสงฆ์ให้พร้อมเจตนาสามเหมือนฉะนั้น ประมวลเข้าด้วยกันเป็นเจตนาทั้ง ๖ บริบูรณ์ แลวัตถุทานนั้นจะมีผลมาก ประพฤติเป็นไปเพื่อจะให้มีประโยชน์แลสุขกาลช้านานจึงตรัสห้ามถึงสามครั้ง ให้ถวายแก่สงฆ์เพื่อจะยังชนทั้งหลายซึ่งบังเกิดภายหลังให้เกิดจิตคิดการกระทำเคารพในสงฆ์จงมาก ประการหนึ่ง ทรงพระพุทธดำริว่า ตถาคตจะประดิษฐานอยู่ในโลกมิได้นานก็จะปรินิพพานเป็นแท้ แลเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว สาวกทั้งหลายจะลำบากด้วยจตุปัจจัยจะได้ด้วยยาก พระศาสดาแห่งตถาคตก็จะมิอาจวัฒนาการไปถ้วน ๕๐๐๐ พระวัสสา เบื้องว่าตถาคตให้ถวายแก่สงฆ์กาลบัดนี้ สืบไปในอนาคตลาภสักการบูชาก็จะปรากฏมีแก่สงฆ์ทั้งปวง ทรงทราบเหตุดังนี้จึงตรัสห้ามถึงสามครั้ง
ทรงขอร้องให้พระอานนท์ช่วยกราบทูลให้ทรงรับ
ตรัสชมว่าการบูชาอาจารย์เป็นเรื่องดี

ลำดับนั้น พระมหาปชาบดีก็เสียพระทัยโทมนัสอาดูรด้วยความโศก จึงเข้าไปสู่สำนักพระอานนท์ ถวายอัญชลีกรแล้วตรัสวิงวอนว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าข้าพเจ้านี้มีโทษเป็นประการใด พระบรมครูจึงไม่ทรงรับภูษาของข้าพเจ้า นิมนต์ผู้เป็นเจ้าจงอนุเคราะห์เข้าไปทูลถามพระสัพพัญญูให้รู้เหตุแจ้งประจักษ์ พระอานนท์รับอาราธนาพระมหาปชาบดี จึงเข้าไปสู่สำนักพระชินสีห์ถวายวันทนาการกราบทูลว่า พระพุทธองค์จงทรงพระมหากรุณารับซึ่งยุคลพัสตร์ของพระมหาปชาบดี พระมหาปาชาบดีนี้เป็นพระมาตุจฉาได้อภิบาลบำรุงเลี้ยงพระองค์มาแต่กาลประสูติได้ ๗ วัน พระพุทธชนนีทิวงคต ได้ถวายขีรธารารสได้เสวยมาตราบเท่าจนกาลทรงพระเจริญ มีพระคุณมาก ประการหนึ่ง พระมหาปชาบดีก็ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์บรรลุแก่พระโสดา ทรงซึ่งศีลาจารวัตรตรัสรู้แจ้งพระจตุราริยสัจ บริบูรณ์ด้วยอเวจประสาทศรัทธาในพระโลกนาถ ปราศจากกังขาในรตนัตยาทิคุณ ควรจะทรงพระการุญภาพอนุเคราะห์โดยแท้
เมื่อได้ทรงสดับจึงตรัสว่า ดูกรอานนท์ อันว่าบุคคลเห็นปานดังพระมหาปชาบดีฉะนี้ ก็ควรจะกระทำอัญชลีสามีจิต แลถวายจตุปัจจัยทานแก่บุคคลผู้เป็นอาจารย์ คือองค์ตถาคตโดยกิจประเภทตอบแทนคุณฉะนี้ บมิกระทำได้ด้วยง่าย ตถาคตจะกล่าวบรรยายซึ่งปาฏิบุคลิกทักษิณาทานโดยพิสดาร จะตรัสประเภทเหตุแห่งทานวิธีมีประการเป็นอันมาก ยากที่บุคคลจะรู้ทั่วถ้วนลักษณทักษิณาโดยนิราวเศษ

ที่มา: ปฐมสมโพธิกถา