วันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

135: พระพุทธชินราชงามเลิศ


พระพุทธชินราชงามเลิศ
ถิ่นกำเนิดพระนเรศวร สองฝั่งน่านล้วนเรือนแพ
หวานฉ่ำแท้กล้วยตาก ถ้ำและน้ำตกหลากตระการตา


เพิ่มเติมภาพเมื่อ : 3 ธ.ค. 49

133: ไหว้พระขอพรที่พิษณุโลก_4

ท่านใดอยากจะ มี เหลือกินเหลือใช้ (กินบ่เสี้ยง:ภาษาเหนือ) ให้มาทางนี้
ด้านหน้าพระวิหารจักมี วิหารพระเหลือ ที่เหลือจากการหล่อองค์พระพุทธชินราชมามากพอสมควร (หล่อถึงสามรอบ กว่าจักสำเร็จสวยงามขนาดนี้)

* ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง แถวนั้น (บริเวณต้นโพธิ์) ที่ท่านทำพิธีหล่อองค์หลวงพ่อพระพุทธชินราช
* ชาวพิษ'โลก เรียกหลวงพ่อพระพุทธชินราชว่า หลวงพ่อใหญ่ และเรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดใหญ่



ถ้าหิวก็ขับรถเลียบริมฝั่งน่านไปเรื่อยๆ ก็จักพบเห็นร้านก๋วยเตี๋ยวห้อยขา มากมาย หลายร้าน

เลือกแวะชิมได้ตามอัธยาศัย

ชามนี้เป็นเล็กต้มยำ - แนวๆก๋วยเตี๋ยวโบราณของ จ.สุโขทัยครับ

เส้นจันทร์ (เหนี่ยว นุ่ม) ผัดไทย - รสชาดหวานนำ เป็นแนวๆของ จ.สุโขทัยเช่นกันครับ

น้ำกระเจี๊ยบ

มุมห้อยขา

อิ่มแล้วก็ชมวิวน่าน ที่จริงชมเด็กน้อย มาพักผ่อนกับคุณพ่อคุณแม่...น่ารักดี

กลับแล้วครับ

(เพิ่มเติม)

รถกาแฟ เท่ห์ดี : ไม่รักจริง ทำไม่ได้

ถ่ายไว้:หลายปีแล้ว

132: ไหว้พระขอพรที่พิษณุโลก_3

จากนั้นเข้าพระมหาวิหาร ประดิษฐานองค์พระพุทธชินราช พระศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืององค์สำคัญลำดับต้นๆของประเทศ และพระพุทธลักษณะที่งดงามที่สุด

พระวิหาร

ขอขอบน้อมนมัสการ...
พระพุทธชินราชงามเลิศ
ถิ่นกำเนิดพระนเรศวร สองฝั่งน่านล้วนเรือนแพ
หวานฉ่ำแท้กล้วยตาก ถ้ำและน้ำตกหลากตระการตา
คือคำขวัญประจำจังหวัดพิษณุโลก



วันนี้ถ่ายภาพออกมาไม่ค่อยถูกใจเท่าใดนัก
อันเนื่องมาจากกล้องซึ่งรับใช้ผมมานานปี ทำให้เข้าสู่วงเวียนแห่งกฏไตรลักษณ์
เขามีปัญหาเรื่องการ Zoom + Shutter นิดหน่อย
ผนวกกับมีผู้คนมาทำบุญกันมากพอสมควร จึงหามุมถ่ายภาพสวยๆมาฝากยากนิดนึง

พระพุทธรูปรอบๆวิหาร

หลังออกจากนั่งสมาธิน้อมถวายเป็นพุทธบูชา

ขออนุญาตถ่ายภาพคู่เหล่าเทพเทวาซะหน่อย

กราบ กราบ กราบ
นะมัตถุ พุทธานัง ความนอบน้อมของข้าพเจ้าจงมีแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
นะมัตถุ โพธิยา ความนอบน้อมของข้าพเจ้าจงมีแด่พระโพธิญาณ
ธรรมรักษ์ผู้รักษ์ธรรม
IT Man

131: ไหว้พระขอพรที่พิษณุโลก_2

พอไปถึงภายในวัดก็ได้เข้าไปสักการะสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไท) บูรพามหากษัตริย์พระองค์ที่ 6 แห่งราชวงค์พระร่วง กรุงสุโขทัย และทรงให้สร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา





ด้านข้าง สถานที่บูชาวัตถุมงคล

ด้านหน้า

สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไท)


130: ไหว้พระขอพรที่พิษณุโลก_1

นี้ชิวๆ ขอนำภาพเดินทางไปไหว้พระขอพรที่พิษณุโลก เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา
ซึ่งวันนั้นผมเดินทางเยี่ยมคุณย่า (ถึงแก่กรรม) ที่ป่วยหนักเข้า รพ.กำแพงเพชร

หลังจากร่ำลากันดีแล้ว จึงเดินทางไปไหว้พระขอพรที่พิษณุโลก เพื่อทำบุญแด่คุณย่าครับ

เนื่องจากอยู่ที่กำแพงเพชรอยู่แล้ว จึงใช้เส้นทางกำแพงเพชร - พิจิตร - พิษ'โลก เป็นเส้นทางที่สะดวกสบายสวยงามดีครับ




เห็นป้ายต้อนรับของจังหวัดก็อุ่นใจ

พระเจดีย์วัดราชบูรณะ (ตรงข้ามวัดใหญ่มี วัดนางพญา,วัดราชบูรณะ)

ถึงเทศบาลนครพิษณุโลก

และวัดใหญ่แล้วเด๊อ...

วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

129: พระฉัพพรรณรังสีที่แผ่จากพระกายพระพุทธเจ้า


"พระฉัพพรรณรังสีที่แผ่จากพระกายพระพุทธเจ้า"
ฉัพพรรณรังสี คือแสงสว่างที่พวยพุ่งออกจากจุดกลางเป็นรัศมี ๖ ประการ ซึ่งเปล่งออกจากพระสรีรกายของพระพุทธเจ้า คือ
๑. นีละ เขียวเหมือนดอกอัญชัน
๒. ปีตะ เหลืองเหมือนหรดาลทอง
๓. โลหิตตะ ขาวเหมือนแผ่นเงิน
๕. มัญเชฏฐะ สีหงสบาทเหมือนดอกเซ่งหรือหงอนไก่
๖. ปภัสสระ เลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก

สีทั้ง ๖ นี้ไม่ได้พุ่งออกเป็นสี ๆ ดังที่แยกไว้นี้ แต่แผ่ออกมาพร้อมกันในหนังสือปฐมสมโพธิกถา ฉบับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส กล่าวถึงพระฉัพพรรณรังสีที่แผ่ซ่านออกจากพระกายพระพุทธเจ้า ไว้ดังนี้
"ในลำดับนั้น พระฉัพพรรณรังสีก็โอภาสแผ่ออกจากพระสริรกาย อันว่านิลประภาก็เขียวสดเสมอด้วยสีแห่งดอกอัญชัน มิฉะนั้นดุจพื้นแห่งเมฆแลดอกนิลุบลแลปีกแห่งแมลงภู่ ผุดออกจากอังคาพยพในที่อันเขียวแล่นไปจับเอาราวป่า แลพระรัศมีที่เหลืองนั้นมีครุวนา ดุจสีหรดารทองแลดอกกรรณิการ์แลกาญจนปัฏอันแผ่ไว้ พระรัศมีออกจากพระสริรประเทศในที่อันเหลืองแล้ว แล่นไปสู่ทิศานุทิศต่าง ๆ พระรัศมีที่แดงอย่างพาลทิพากรแลแก้วประพาฬ แลกุมุทปทุมกุสุมชาติ โอภาสออกจากพระสริรอินทรีย์ในที่อันแดงแล้วแล่นฉวัดเฉวียนไปในประเทศที่ทั้งปวง พระรัศมีมีที่ขาวก็ขาวดุจดวงรัชนิกร แลแก้วมณี แลสีสังข์ แลแผ่นเงิน แลดวงดาวพกาพฤกษ์ พุ่งออกจากพระสริรประเทศในที่อันขาวแล้วแล่นไปในทิศโดยรอบ พระรัศมีหงสสิบาทก็พิลาสเล่ห์ดุจสีดอกเซ่ง แลดอกชบา แลดอกหงอนไก่ออกจากรัชกายรุ่งเรืองจำรัส พระรัศมีประภัสสรประภาครุนาดุจสีแก้วพลึกแลแก้วไพฑูริย์เลื่อมประพระฉัพพรรณรังสีทั้ง ๖ ประการแผ่ไพศาลแวดล้อมไปโดยรอบพระสกลกายยินทรีย์ กำหนดที่ ๑๒ ศอก โดยประมาณ อันว่าศศิสุริยประภาแลดาราก็วิกลวิการอันแสง เศร้าสีดุจหิ่งห้อยเหือดสิ้นสูญ มิได้จำรูญไพโรจโชติชัชวาล"
รัศมีเฉกเช่นฉัพพรรณรังสีนี้มีเฉพาะพระพุทธเจ้าและเทวดาเท่านั้น นอกจากนี้ก็เกิดแต่ธรรมชาติเช่นสีรุ้งที่เรียกกันเป็นสามัญว่ารุ้งกินน้ำ หรือ พระจันทร์ พระอาทิตย์ทรงกลด ที่ออกจากเทวดานั้นจะเห็นได้ดังที่พรรณนาไว้ในพระสูตรต่าง ๆ ในเวลาที่เทวดามาเฝ้าพระพุทธเจ้าดังนี้
มีเทวดาตนหนึ่งมีรัศมีสว่างจ้าเข้ามายังพระเชตวัน ทำพระเชตวันให้สว่างไสวไปทั่วบริเวณ เข้าเผ้าพระทุทธเจ้าที่ประทับความสว่างของรัศมีนั้น ไม่เหมือนแสงเดือนแสงตะวัน หรือไม่เหมือนแสงไฟ เป็นแสงสว่างที่เสมอกันทั้งหมด และเป็นแสงสว่างที่ไม่มีเงาเหมือนแสงอื่นเป็นแสงที่แผ่ไปติดอยู่ทั่วบริเวณ
มีข้อความในปฐมสมโพธกถา ปริเฉทที่ ๑๓ ธรรมจักรปริวรรตว่าดังนี้
"ฝ่ายอุปกาชีวเดินมาโดยทุราคมวิถีทางไกล หว่าง คยาประเทศเขตเมืองราชคฤห์กับมหาโพธิญาณ ติดต่อกัน แลเห็นไพสณฑ์สถานอันโอฬารไพโรจน์พรรณราย ด้วยข่ายฉัพพรรณรังสีโสณิวิลาส ปรากฏโดยทิวาทัศนาการทั้งพสุธารแลอากาศโอภาสด้วยพระรัศมีมีพรรณแห่งละ ๖ อย่าง ทั่วทั้งทิศล่างและทิศบน มาสัมผัสกายตนประหลาดมหัศจรรย์ไม่เคยได้พบเห็นเป็นเช่นนี้มาแต่ก่อน ถ้าจะเป็นเพลิง ไฉนกายอาตมาจึงไม่ร้อนกระวนกระวายแม้จะเป็นน้ำ ไฉนกายอาตมาจะไม่ชุ่มชื้นเย็นนี่จะเป็นสิ่งอันใดยิ่งสงสัยสนเท่ห์จิต จึงเพ่งพิศไปข้างโน้นข้างนี้ ก็เห็นองค์พระผู้ทรงสวัสดิ์ภาคย์เสด็จบทจรมา รุ่งเรืองด้วยพระสิดิฉันธมหาหว่างติสสุระ ลักษณะแลพระพยามประภาโอภาสเบื้องบน พระสุริย ก็ช่วงโชติด้วยพระเกตุมาลา ครุนาดุจทองทั้งแท่งประดับด้วยฉัพพรรณรังสี รังสีแสงไพโรจน์จำรัส"

ที่มา 1,2

128: พุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้

พุทธชยันตี 2600 ปี หรือ พุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ (อังกฤษ: Buddhajanti: The Celebration of 2,600 Years of the Buddha’s Enlithenment)

เป็นเทศกาลสำคัญทางพระพุทธศาสนาเถรวาท ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับวันวิสาขบูชา เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในวันวิสาขบูชา พ.ศ. 2555
การฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ จัดขึ้นพร้อมกันในหลายประเทศ เช่น อินเดีย ศรีลังกา พม่า และประเทศไทย

โดยวัตถุประสงค์ของพุทธชยันตีในประเทศต่าง ๆ มุ่งการจัดกิจกรรมเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาเป็นวาระพิเศษตลอดทั้งปี เช่น การจัดกิจกรรมพุทธบูชา การปฏิบัติธรรม และการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อเฉลิมฉลองรำลึกในโอกาสครบรอบ 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าในวันวิสาขบูชา เมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช (พุทธปรินิพพาน)

ในประเทศไทย มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า งานฉลองสัมพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ระยะเวลาจัดงานตั้งแต่ เทศกาลวิสาขบูชา วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป จนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2555

ประเทศไทย
ธงสัญลักษณ์พุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้
การฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ในประเทศไทย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยได้เสนอรูปแบบพร้อมความหมายธงสัญลักษณ์แก่มหาเถรสมาคม และมหาเถรสมาคมได้มีมติเห็นชอบให้ใช้เป็นสัญลักษณ์การฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ในประเทศไทย เพื่อเผยแพร่ให้คณะสงฆ์ หน่วยงานทางราชการ และพุทธศาสนิกชนทั่วไป ได้ใช้ประดับตกแต่ง ณ สถานที่ราชการ วัดและเคหสถานทั่วประเทศ ตั้งแต่ช่วงมาฆบูชาหรือช่วงเทศกาลวิสาขบูชา (วันที่ 29 พฤษภาคม 2555) เป็นต้นไป จนถึงสิ้นปี 2555

โดยธงสัญลักษณ์งานฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี มีรูปแบบดังนี้
1.ธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นธงสีเหลือง
2.มีรูปใบโพธิ์รอบธรรมจักร ในวงธรรมจักรเป็นสีธงฉัพพรรณรังสี
3.รูปธรรมจักรมีซี่ จำนวน 12 ซี่ ซึ่งหมายถึง ญาณ 3 ในอริยสัจ 4
4.มีชื่องานภาษาไทยด้านล่างใบโพธิ์ ส่วนชื่อภาษาอังกฤษจะอยู่รอบวงธรรมจักร หากใช้ประดับในต่างประเทศหรือสถานที่ระดับสากล สามารถสลับที่ระหว่างภาษาไทยและภาษาอังกฤษก็ได้
ความหมายของธงสัญลักษณ์นั้น ใบโพธิ์ หมายถึง การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า สีเขียวแห่งใบโพธิ์ หมายถึง ความเจริญงอกงามของพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ธรรมจักรกลางผืนธงฉัพพรรณรังสี หมายถึง หลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า กนกลายไทยชูช่อฟ้า หมายถึง ผืนแผ่นดินไทยได้เชิดชูพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

รายละเอียด
การจัดงานพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ แบ่งออกเป็นสามส่วนคือ
1. พิธีหลวง พิธีที่มีความเกี่ยวข้องกับสำนักพระราชวัง หรือเป็นพิธีพุทธบูชาที่มีพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในกิจกรรมพุทธบูชาในช่วงเวลาการฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ ในวาระต่าง ๆ เช่น พิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุหลวงจากพระบรมมหาราชวังไปประดิษฐานยังมณฑลพิธีงานพุทธชยันตี 2600 ปี ณ ท้องสนามหลวง การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชาโลก ฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระกุศลเนื่องในวันวิสาขบูชา ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเททองหล่อพระพุทธรูปสมโภชพุทธชยันตี การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงยกฉัตรประดิษฐานเหนือพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองเป็นต้น
2. รัฐพิธี ได้แก่ พิธีต่าง ๆ ที่ภาครัฐอำนวยการ รวมถึงพิธีต่าง ๆ ที่มหาเถรสมาคมดำริหรือมีมติให้เป็นกิจกรรมโดยคณะสงฆ์ไทย เช่น การจัดตั้งคณะอำนวยการจัดงาน ฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า การจัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาในลักษณะต่าง ๆ การจัดกิจกรรมทางวิชาการ และกิจกรรม 1 จังหวัด 1 อำเภอ 1 ท้องถิ่น : 1 พุทธบูชา เป็นต้น
3. ราษฎรพิธี ได้แก่ พิธีต่าง ๆ ที่ วัด พระสงฆ์ องค์กรภาคเอกชน รวมทั้งประชาชนร่วมกันจัดขึ้นด้วยความศรัทธา ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น กิจกรรมการเวียนเทียน การจัดทำบุญและถวายมหาสังฆทาน กิจกรรมอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ กิจกรรมงานวัดลอยฟ้า กิจกรรมฉายภาพยนต์สื่อธรรมะทางพระพุทธศาสนา กิจกรรมตักบาตรพระ 1,000,000 รูปเป็นต้น

วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

127: บุญผะเหวด

ข้อมูลเรื่องเกี่ยวกับบุญผะเหวด
งานบุญผะเหวดเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของชาวอีสาน เป็น 1 ในประเพณี ฮีต 12 ซึ่งนิยมทำกันทุกหมู่บ้าน ด้วยความเชื่อกันว่าหากได้ฟังเทศน์บุญผะเหวดครบ 13 กัณฑ์ จบภายในวันเดียวและจัดพิธีตั้งเครื่องคาย (บูชา) ได้ถูกต้อง อานิสงส์จะดลบันดาลให้ไปเกิดในศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรย ซึ่งเป็นดินแดนแห่งความสุข สงบ แต่ในทางกลับกันหากตั้งเครื่องคายไม่ถูกต้อง ก็จะดลบันดาลให้เกิดอาเพศต่าง ๆ นานา
การจัดงานบุญผะเหวดแต่ละครั้งเป็นงานบุญสำคัญที่ทุกคนในหมู่บ้านต้องมาร่วมกัน นอกจากการฟังเทศน์มหาชาติแล้ว ประเพณีนี้ยังแฝงด้วยความเชื่อหลายประการเข้าไว้ด้วยกัน ที่สำคัญได้แก่ ความเชื่อเรื่องพระอุปคุต ซึ่งเป็นพระผู้รักษาพิธีให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น ตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่มีพญามารมารบกวน
มูลเหตุที่ทำให้เกิดเทศน์มหาชาติ
มีเรื่องเล่าในพระมาลัยหมื่นมาลัยแสนว่า ครั้งหนึ่งพระมาลัยเถรเจ้าได้ขึ้นไหว้พระธาตุเกตแก้วจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้พบและสนทนาธรรมกับพระศรีอริยเมตไตรยโพธิสัตว์ ผู้ซึ่งจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ถัดจากพระสมณะโคดมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน

ตอนหนึ่งของพระมาลัยเถระกล่าวกับพระศรีอริยเมตไตรยโพธิสัตว์ ว่าประชาชนชาวโลกมีความปรารถนา ใคร่อยากเกิดร่วมในศาสนาของพระองค์ จะให้ชาวโลกประพฤติปฏิบัติอย่างไร พระศรีอริยเมตไตรยโพธิสัตว์เมื่อทราบความประสงค์ของมนุษย์ในโลกแล้ว

จึงได้สั่งความกับพระมาลัยเถระเจ้าว่า ถ้ามนุษย์ทั้งหลายปรารถนาจะได้พบและเกิดร่วมศาสนากับพระองค์แล้ว จงรักษาศีลอย่าให้ขาด ให้ทานสม่ำเสมอ แก่สมณะชีพราหมณ์ ยาจกเข็ญใจ ผู้ยากไร้ทั้งหลาย จงอย่าได้ด่าว่า ฆ่าพ่อ ตีแม่ สมณะชีพราหมณาจารย์ อย่ายุยงพระสงฆ์หมู่คณะให้แตกสามัคคีกัน ให้ตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาเรื่องพระเวสสันดรชาดกให้จบสั้นภายในวันเดียวโดยความเคารพ จึงจะได้เกิดร่วมศาสนาและพบเห็นพระองค์


การเทศน์มหาชาติมี 13 กัณฑ์ ได้แก่
1. กัณฑ์ที่ 1 ทศพร 79 พระคาถา
2. กัณฑ์ที่ 2 หิมพานต์ 134 พระคาถา
3. กัณฑ์ที่ 3 ทานกัณฑ์ 209 พระคาถา
4. กัณฑ์ที่ 4 วนปเวสน์ 57 พระคาถา
5. กัณฑ์ที่ 5 ชูชก 79 พระคาถา
6. กัณฑ์ที่ 6 จุลพน 35 พระคาถา
7. กัณฑ์ที่ 7 มหาพน 80 พระคาถา
8. กัณฑ์ที่ 8 กุมาร 101 พระคาถา
9. กัณฑ์ที่ 9 มัทรี 90 พระคาถา
10. กัณฑ์ที่ 10 สักบรรพ์ 43 พระคาถา
11. กัณฑ์ที่ 11 มหาราช 69 พระคาถา
12. กัณฑ์ที่ 12 ฉกษัตริย์ 36 พระคาถา
13. กัณฑ์ที่ 13 นครกัณฑ์ 48 พระคาถา

ฮีต 12

คนอีสาน มีวัฒนธรรมประจำชาติและประจำท้องถิ่น มาแต่โบราณกาลแล้วนับศตวรรษ จนถือเป็นฮีตเป็นคลอง ...ต้องปฏิบัติสืบกันมาจนเป็นประเพณีที่รู้จักกันดีและพูดจนติด ปากว่า "ฮีตสิบสอง คลองสิบสิบสี่" ฮีตสิบสอง คำว่า ฮีต มาจากคำภาษาบาลีที่ว่า จารีตตะ แปลว่า ธรรมเนียม แบบแผนความประพฤติ ที่ดีงามปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกลายเป็นประเพณี ฮีต นั้นมี 12 ประการ เท่ากับ 12 เดือนใน 1 ปี ตามระบบจันทรคติหรือพูดอีกนัยคือ การทำบุญ 12 เดือนนั้นเอง

ฮีตที่ 1. บุญเข้ากรรม ภิกษุต้องอาบัติ สังฆาทิเสส ต้องอยู่กรรมถึงจะพ้นอาบัติ ญาติโยมแม่ออกแม่ตน ผู้อยากได้บุญกุศลก็จะให้ไปทาน รักษาศีลฟังธรรมเกี่ยวกับการเข้ากรรมของภิกษุ เรียกว่าบุญเข้ากรรม กำหนดเอาเดือนเจียงเป็นเวลาทำ จะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้ วันที่นิยม ทำเป็นส่วนมากคือวันขึ้น 15 ค่ำ เพราะเหตุมีกำหนดให้ทำในระหว่างเดือนเจียง จึงเรียกว่าบุญเดือนเจียง

ฮีตที่ 2. บุญคูนข้าว หรือ บุญคูนลาน ลานคือ ที่สำหรับตีหรือนวดข้าว การเอาข้าวที่ตีแล้วมากองให้สูงขึ้น เรียกว่า คูนลาน หรือที่เรียกกันว่าคูนข้าว ชาวนาที่ทำนาได้ผลดี อยากได้กุศล ให้ทานรักษาศีล เป็นต้น ก็จัดเอาลานข้าวเป็นสถานที่ทำบุญ การทำบุญในสถานที่ดังกล่าวเรียกว่า บุญคูนลาน ซึ่งกำหนดเอาช่วงเดือนยี่เป็นเวลาทำบุญจึงเรียกว่าบุญเดือนยี่

ฮีตที่ 3. บุญข้าวจี่ ข้าวจี่คือ ข้าวเหนียวปั้นโรยเกลือ ทาไข่ไก่แล้วจี่ไฟให้สุก การทำบุญมีให้ทานข้าวจี่เป็นต้น เรียกว่าบุญข้าวจี่ นิยมทำกันอย่างแพร่หลาย เพราะถือว่าได้กุศลเยอะ ทำในช่วงเดือนสาม เรียกว่า บุญเดือนสาม

ฮีตที่ 4. บุญผะเหวด หรือ บุญเดือนสี่ บุญที่มีการเทศน์พระเวส หรือ มหาชาติ เรียกว่าบุญเผวส(ผะ-เหวด) หนังสือมหาชาติ หรือ พระเวสสันดรชาดกแสดงถึงจริยวัตรของ พระพุทธเจ้าคราวพระองค์เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร เป็นหนังสือเรื่องยาว 13 ผูก บุญผะเหวด นิยมทำกันในช่วงเดือนสี่

ฮีตที่ 5. บุญสรงน้ำ หรือ บุญเดือนห้า เมื่อเดือนห้ามาถึงอากาศก็ร้อนอบอ้าวทำให้คนเจ็บไข้ได้ป่วยการอาบน้ำชำระเนื้อกายเป็นวิธีการแก้ร้อนผ่อนให้เป็นเย็น ให้ได้รับความ สุขกายสบายใจ อีกอย่างหนึ่งมี

เรื่องเล่าว่า เศรษฐีคนหนึ่งไม่มีลูก จึงไปบนบาลพระอาทิตย์และพระจันทร์เพื่อขอลูก เวลาล่วงเลยมาสามปี ก็ยังไม่ได้ลูกจึงไปขอลูกกับต้นไทรใหญ่ เทวดาประจำต้นไทรใหญ่ มีความกรุณาได้ไปขอลูกต่อพระยาอินทร์ พระยาอินทร์ให้ธรรมะปาละกุมาร (ท้าวธรรมบาล) มาเกิดในท้องภรรยาเศรษฐี

เมื่อธรรมะปาละประสูติ เจริญวัยใหญ่ขึ้นได้เรียนจบไตรเภท เป็นอาจารย์สอนการทำมงคลแก่คนทั้งหลาย กบิลพรหมลงมาถามปัญหาธรรมะปาละกุมาร (ถามปัญหาสามข้อคือ คนเราในวันหนึ่ง ๆ มีศรีอยู่ที่ไหนบ้าง ถ้าธรรมบาลตอบได้จะตัดศีรษะตนบูชา

แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลเสียดผลัดให้เจ็ดวันในชั้นแรก ธรรมบาลตอบไม่ได้ ในวันถ้วนหก ธรรมบาลเดินเข้าไปในป่าบังเอิญได้ยินนกอินทรีย์สองผัวเมียพูดคำตอบให้กันฟัง ตอนเช้าศรี อยู่ ที่หน้า คนจึงเอาน้ำล้างหน้าตอนเช้า ตอนกลางวันศรีอยู่ที่อก คนจึงเอาน้ำหมดประพรหมหน้าอกตอนกลางวันและตอนเย็นศรีอยู่ที่เท้า

คนจึงเอาน้ำล้างเท้าตอนเย็น ธรรมบาลจึงสามารถตอบคำถามนี้ได้) สัญญาว่าถ้าธรรมบาลตอบปัญหาถูกจะตัดหัวของตนบูชา ธรรมบาลแก้ได้ เพราะศีรษะของกบิลพรหมมีความศักดิสิทธ์มาก ถ้าตกใส่แผ่นดินจะเกิดไฟไหม้ ถ้าทิ้งขึ้นไปในอากาศฝนจะแล้ง ถ้าทิ้งลงมหาสมุทรน้ำจะแห้ง

ก่อนตัดศีรษะ กบิลพรหมเรียกลูกสาวทั้งเจ็ดคน เอาขันมารองรับแห่รอบเขาพระสุเมรุ หกสิบนาที แล้วนำไปไว้ที่เขาไกรลาสเมื่อถึงกำหนดปี นางเทพธิดาทั้งเจ็ดผลัดเปลี่ยนกันมาเชิญเอาศีรษะท้าวกบิลพรหมมาแห่รอบเขาพระสุเมรุ แล้ว
กลับไปเทวะโลก

ฮีตที่ 6. บุญบั้งไฟ คือ การเอาขี้เจีย(ดินประสิว) มาประสมคั่วกับถ่าน โขลกให้แหลกเรียกว่าหมื่อ (ดินปืน) เอาหมื่อใส่กระบอกไม้ไผ่อัดให้แน่น แล้วเจาะรูใส่หางเรียกว่าบั้งไฟ การทำบุญมีให้ทาน เป็นต้น เกี่ยวกับการทำบ้องไฟ เรียกว่า บุญบั้งไฟ กำหนดทำกันในเดือนหกเรียกว่าบุญเดือนหก เพื่อขอฟ้าขอฝนจากเทวดาเมื่อถึงฤดูแห่งการเพาะปลูก ทำไร่ทำนา

ฮีตที่ 7.บุญซำฮะ การชำฮะ(ชำระ) สะสางสิ่งสกปรกโสโครกให้สะอาดปราศจากมลทินโทษหรือความมัวหมอง เรียกว่า การซำฮะ สิ่งที่ต้องการทำให้สะอาดนั้นมี 2 อย่างคือ ความสกปรกภายนอกได้แก่ ร่างกาย เสื้อผ้า อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย และความสกปรกภายใน

ได้แก่ จิตใจเกิดความโลภมากโลภา โกรธหลง เป็นต้น แต่สิ่งที่จะต้องชำระในที่นี้คือเมื่อบ้านเมืองเกิดข้าศึกมาราวีทำลาย เกิดผู้ร้ายโจรมาปล้น

เกิดรบราฆ่าฟันแย่งกันเป็นใหญ่ผู้คนช้างม้าวัวควายล้มตาย ถือกันว่าบ้านเดือดเมืองร้อนชะตาบ้านชะตาเมืองขาด จำต้องซำฮะให้หายเสนียดจัญไร การทำบุญมีการรักษาศีลให้ทานเป็นต้นเกี่ยวกับการซำฮะนี้เรียกว่าบุญซำฮะ มีกำหนดทำให้ระหว่างเดือนเจ็ด จึงเรียกว่าบุญเดือนเจ็ด

ฮีตที่ 8.บุญเข้าวัดสา (เข้าพรรษา) การอยู่ประจำวัดวัดเดียวตลอดสามเดือนในฤดูฝนเรียกว่าเข้าวัดสาโดยปกติกำหนดเอาวันแรมหนึ่งค่ำเดือนแปดเป็นวันเริ่มต้น เรียกว่าบุญเดือนแปด

ฮีตที่ 9. บุญข้าวห่อประดับดิน หรือบุญเดือนเก้า การห่อข้าวปลาอาหารและของเคี้ยวของกินเป็นห่อ ๆ แล้วเอาไปถวายทานบ้าง ไปแขวนตามกิ่งไม้ในวัดบ้าง เรียกว่าบุญข้าวประดับดิน เพราะมีกำหนดทำบุญในเดือนก้าวจึงเรียกว่า บุญเดือนเก้า

ฮีตที่ 10.บุญข้าวสาก การเขียนชื่อใส่สลากให้พระภิกษุและสามเณรจับและเขียนชื่อใส่ภาชนะข้าวถวายตามสลากนั้นและทำบุญอย่าอื่นมีรักษาศีลฟังธรรม เป็นต้น เรียกว่าบุญข้าสาก (สลาก ) เพราะกำหนดให้ทำในเดือนสิบ จึงเรียกว่าบุญเดือนสิบ

ฮีตที่ 11. บุญออกวัดสา (ออกพรรษา) การออกจากเขตจำกัดไปพักแรมที่อื่นได้เรียกว่า ออกวัดสา คำว่าวัดสาหมายถึงฤดูฝน ในปีหนึ่งมี 4 เดือน คือ ตั้งแต่วันแรมสี่ค่ำเดือนแปดถึงขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ในระยะ สี่เดือนสามเดือนต้น ให้เข้าวัดก่อน เข้าครบกำหนดสามเดือนแล้วให้ออก อีกเดือนที่เหลือให้หาผ้าจีวรมาผลัดเปลี่ยนการทำบุญมีให้ทานเป็นต้น เรียกว่าการทำบุญเดือนสิบเอ็ด

ฮีตที่ 12. บุญกฐิน ผ้าที่ใช้ไม้สะดึงทำเป็นขอบซึ่งเย็บจีวร เรียกว่าผ้ากฐิน ผ้ากฐินนี้มีกำหนดเวลาในการถวายเพียงหนึ่งเดือนคือตั้งแต่ แรมหนึ่งค่ำเดือนสิบเอ็ด ถึง เพ็ญสิบสอง เพราะกำหนดเวลาทำในเดือน 12 จึงเรียกว่าบุญเดือนสิบสอง

คลอง 14

คลองสิบสี่ หมายถึง ข้อกติกาของสังคม 14 ประการที่ยึดถือปฏิบัติต่อกันเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม มีดังนี้
1. เมื่อได้ข้าวใหม่หรือผลหมากรากไม้ ให้บริจาคทานแก่ผู้มีศีลแล้วตนจึงบริโภคและแจกจ่ายแบ่งญาติพี่น้องด้วย
2. อย่าโลภมาก อย่าจ่ายเงินแดงแปงเงินคว้าง และอย่ากล่าวคำหยาบช้ากล้าแข็ง
3. ให้ทำป้ายหรือกำแพงเอือนของตน แล้วปลูกหอบูชาเทวดาไว้ในสี่แจ(มุม)บ้านหรือแจเฮือน
4. ให้ล้างตีนก่อนขึ้นเฮือน
5 เมื่อถึงวันศีล 7-8 ค่ำ 14-15 ค่ำ ให้สมมาก้อนเส้า สมมาคีงไฟ สมมาขั้นบันได สมมาผักตู (ประตู) เฮือนที่ตนอาศัยอยู่
6. ให้ล้างตีนก่อนเข้านอนตอนกลางคืน
7. ถึงวันศีล ให้เมียเอาดอกไม้ธูปเทียนมาสมมาสามี แล้วให้เอาเอาดอกไม้ไปถวายสังฆเจ้า
8. ถึงวันศีลดับ ศีลเพ็ง ให้นิมนต์พระสงฆ์มาสูดมนต์เฮือน แล้วทำบุญตัก บาตร
9. เมื่อภิกษุมาคลุมบาตร อย่าให้เพิ่นคอย เวลาใส่บาตรอย่าซุน (แตะ) บาตร อย่าซูนภิกษุสามเณร
10. เมื่อภิกษุเข้าปริวาสกรรม ให้เอาขันขันข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียน และเครื่องอัฐบริขารไปถวายเพิ่ม
11.เมื่อเห็นภิกษุ เดินผ่านมาให้นั่งลงยกมือไหว้แล้วจึงค่อยเจรจา
12. อย่าเงียบเงาพระสงฆ์
13. อย่าเอาอาการเงื่อน (อาหารที่เหลือจากการบริโภค) ทานแก่สังฆเจ้าและอย่าเอาอาหารเงื่อนให้สามีตัวเองกิน
14. อย่าเสพกามคุณในวันศีล วันเข้าวัดสา วัดออกพรรษา วันมหาสงกรานต์และวันเกิดของตน

Link ที่มา

126: ประเพณีฮีตสิบสอง คองสิบสี่

ประเพณีฮีตสิบสอง คองสิบสี่
ฮีตสิบสองมาจากคำ 2 คำ คือ ฮีต กับ สิบสอง ฮีตมาจากคำว่า จารีต หมายถึงสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกลายเป็นประเพณีที่ดีงาม ชาวอีสาน เรียกว่า จาฮีต หรือฮีต สิบสองในหนึ่งปี
คองสิบสี่ หมายถึง ครองธรรม 14 อย่าง เป็นกรอบหรือแนวทางที่ใช้ปฏิบัติระหว่างกัน ของผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง พระสงฆ์ และระหว่างบุคคลทั่วไป เพื่อความสงบสุขร่มเย็นของ บ้านเมือง



วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอีสานที่ดำรงชีพอยู่ในสังคมเกษตรกรรม ตามสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่แห้งแล้งกันดารนั้น ในความเชื่อต่อการดำเนินชีวิตที่มีความผาสุกและเจริญรุ่งเรืองเกิดขึ้นแก่ครอบครัวและบ้านเมืองก็ต้องมีการประกอบพิธีกรรม มีการเซ่นสรวงบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย และร่วมทำบุญตามประเพณีทางพุทธศาสนาด้วยทุกๆเดือนในรอบปีนั้นมีการจัดงานบุญพื้นบ้านประเพณีพื้นเมืองกันเป็นประจำ จึงได้ถือเป็นประเพณี 12 เดือนเรียกกันว่า ฮีตสิบสอง ถือกันว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน
คติความเชื่อในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เกี่ยวพันกับการเกษตรกรรม เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจต่อการดำรงชีวิต
ชาวอีสานจึงมีงานบุญพื้นบ้านมากมายจนได้ชื่อว่าเป็นภูมิภาคที่มีงานประเพณีพื้นบ้านมากที่สุดในประเทศ
ฮีตสิบสองเดือนหรือประเพณีสิบสองเดือนนั้น ชาวอีสานร่วมกันประกอบพิธีนับแต่ต้นปี คือ

เดือนอ้าย หรือเดือนเจียง งานบุญเข้ากรรม มีงานบุญดอกผ้า (นำผ้าห่มหนาวไปถวายสงฆ์) ประเพณีเส็งกลอง ทำลานตี(ลานนวดข้าว)ทำปลาแดก (ทำปลาร้าไว้เป็นอาหาร) เกี่ยวข้าวในนา เล่นว่าว ชักว่าวสนู นิมนต์พระสงฆ์เข้าประวาสกรรม
ตามป่ระเพณีนั้นมีการทำบุญทางศาสนา เพื่ออนิสงฆ์ทดแทนบุญคุณต่อบรรพบุรุษ ชาวบ้านเลี้ยงผีแถน ผีบรรพบุรุษ มีการตระเตรียมเก็บสะสมข้าวปลาอาหารไว้กินในยามแล้ง

เดือนยี่ งานบุญคูนลาน ทำบุญที่วัด พระสงฆ์เทศน์เรื่องแม่โพสพ ทำพิธีปลงข้าวในลอมและฟาดข้าวในลาน ขนข้าวเหลือกขึ้นเล้า (ยุ้งฉาง) นับเป็นความเชื่อในการบำรุงขวัญและสิริมงคลทางเกษตรกรรม มีทั้งทำบุญที่วัดและบางครั้งทกบุญที่ลานนวดข้าว เมื่อขนข้าวใส่ยุ้งแล้วมักไปทำบุญที่วัด

เดือนสาม บุญข้าวจี่ มีพิธีเลี้ยงลาตาแฮก (พระภูมินา) เพราะขนข้าวขึ้นยุ้งแล้ว งานเอิ้นขวัญข้าวหรือกู่ขวัญข้าว เพ็ญเดือนสามทำบุญข้าวจี่ตอนเย็นทำมาฆบูชา ลงเข็นฝ้ายหาหลัวฟืน (ไม้เชื้อเพลิงลำไม้ไผ่ตายหลัว กิ่งไม้แห้ง-ฟืน)
ตามประเพณีหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวใส่ยุ้งแล้ว มีการทำบุญเซ่นสรวงบูชาเจ้าที่นา ซึ่งชาวอีสานเรียกว่าตาแฮก และทำบุญแผ่ส่วนกุศลให้ผีปู่ย่าตายาย อันเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ โดยการทำข้าวจี่(ข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนสอดไส้น้ำตาลหรือน้ำอ้อยชุบไข่ปิ้งจนเหลือง) นำไปถวายพระพร้อมอาหารคาวหวานอื่นๆ

เดือนสี่ บุญพระเวส (อ่านออกเสียงพระ-เหวด) มีงานบุญพระเวส (ฟังเทศน์มหาชาติ) แห่พระอุปคุตตั้งศาลเพียงตา ทำบุญแจกข้าวอุทิศให้ผู้ตาย (บุญเปตพลี) ประเพณีเทศน์มหาชาติเหมือนกับประเพณีภาคอื่นๆ ด้วย เป็นงานบุญทางพุทธศาสนาที่ถือปฏิบัติทำบุญถวายภัตตาหารแล้วตอนบ่ายฟังเทศน์ เรื่องเวสสันดรชาดก ตามประเพณีวัดติดต่อกัน 2-3 วันแล้วแต่กำหนดในช่วงที่จัดงานมีการแห่พระอุปคุตเพื่อขอให้บันดาลให้ฝนตกด้วย

เดือนห้า บุญสรงน้ำ หรือเทศกาลสงกรานต์ ชาวอีสานเรียกกันว่า สังขานต์
ตามประเพณีจัดงานสงกรานต์นั้น บางแห่งจัดกัน 3 วัน บางแห่ง 7 วัน แล้วแต่กำหนดมีการทำบุญถวายภัตตาหารคาวหวาน หรือถวายจังหันเช้า-เพลตลอดเทศกาล ตอนบ่ายมีสรงน้ำพระ รดน้ำผู้ใหญ่ผู้เฒ่าก่อเจดีย์ทราย

เดือนหก บุญบั้งไฟ บางแห่งเรียก บุญวิสาขบูชา มีงานบุญบั้งไฟ (บุญขอฝน) บุญวิสาขบูชา วันเพ็ญเดือนหก
เกือบตลอดเดือนหกนี้ ชาวอีสานจัดงานบุญบั้งไฟ จัดวันใดแล้วแต่คณะกรรมการหมู่บ้านกำหนดถือเป็นการทำบุญบูชาแถน (เทวดา) เพื่อขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลและความอุดมสมบูรณ์ของข้าวปลาอาหารในปีต่อไปครั้นวันเพ็ญหก เป็นงานบุญวิสาขบูชาประเพณีสำคัญทางพุทธศาสนา มีการทำบุญฟังเทศน์และเวียนเทียนเพื่อผลแห่งอานิสงส์ในภพหน้า

เดือนเจ็ด บุญชำฮะ มีพิธีเลี้ยงตาแฮก ปู่ตา หลักเมือง งานบุญเบิกบ้านเบิกเมือง งานเข้านาคเพื่อบวชนาค
คติความเชื่อหลังจากหว่านข้าวกล้าดำนาเสร็จ มีการทำพิธีเซ่นสรวงเจ้าที่นา เพื่อความเป็นสิริมงคลให้ข้าวกล้าในนางงอกงาม บ้านที่กุลบุตรมีงานอุปสบททดแทนบุญคุณบิดามารดาและเตรียมเข้ากรรมในพรรษา

เดือนแปด งานบุญเข้าพรรษา มีพิธีหล่อเทียนพรรษางานบุญเทศกาลเข้าพรรษา
แต่ละหมู่บ้านช่วยกันหล่อเทียนพรรษา ประดับให้สวยงาม จัดขบวนแห่เพื่อนนำไปถวายเป็นพุทธบูชา มีการทำบุญถวายภัตตหาร เครื่องไทยทานและผ้าอาบน้ำฝน เพื่อพระสงฆ์จะได้นำไปใช้ตลอดเทศกาลเข้าพรรษา

เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน จัดงานวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 นับแต่เช้ามืด ชาวบ้านจัดอาหารคาวหวาน หมากพลูบุหรี่ใส่กระทงเล็กๆ นำไปวางไว้ตามลานบ้าน ใต้ต้นไม้ ข้างพระอุโบสถ เพื่อเป็นการให้ทานแก่เปรตหรือวิญญาณที่ตกทุกข์ได้ยากตอนสายมีการทำบุญที่วัด ฟังเทศน์เป็นอานิสงส์

เดือนสิบ บุญข้าวสาก ข้าวสากหมายถึงการกวนกระยาสารท คล้ายงานบุญสลากภัตในภาคกลาง จัดงานวันเพ็ญเดือน 10 นำสำรับคาวหวานพร้อมกับข้าวสาก(กระยาสารท) ไปทำบุญที่วัดถวายผ้าอาบน้ำฝนและเครื่องไทยทาน แต่ก่อนที่จะถวายนั้นจะทำสลากติดไว้ พระสงฆ์องค์ใดจับสลากใดได้ก็รับถวายจากเจ้าของสำรับนั้น ตอนบ่ายฟังเทศน์เป็อานิสงส์

เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา มีพิธีถวายผ้าห่มหนาวในวันเพ็ญ มีงานบุญตักบาตรเทโว พิธีกวนข้าวทิพย์ พิธีลอยเรือไฟ
นับเป็นช่วงที่จัดงานใหญ่กันเกือบตลอดเดือน นับแต่วันเพ็ญ มีการถวายผ้าห่มหนาวแต่พระพุทธพระสงฆ์ วันแรม 1 ค่ำ งานบุญตักบาตรเทโว ตอนเย็นวันขึ้น 14 ค่ำ มีพิธีกวนข้าวทิพย์ มีงานช่วงเฮือ (แข่งเรือ) ในวันเพ็ญมีงานแห่ปราสาทผึ้ง พิธีลอย เฮือไฟ (ไหลเรือไฟ) เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา มีทั้งงานบุญกุศลและสนุกสนานรื่นเริง

เดือนสิบสอง บุญกฐิน ทำบุญข้าวเม่าพิธีถวายกฐินเมื่อถึงวันเพ็ญจัดทำข้าวเม่า(ข้าวใหม่)นำไปถวายพระ พร้อมสำรับคาวหวานขึ้นตอนบ่ายฟ้งเทศน์เป็นอานิสงส์จัด พิธีทอดกฐินตามวัดที่!!จองกฐินไว้ งานบุญในฮีตสิบสองนั้น ตามหมู่ที่เคร่งประเพณียังคงจัดกันอย่างครบถ้วนบางแห่งจัดเฉพาะงานบุญใหญ่ๆตามแต่คณะกรรมการหมู่บ้านร่วมกันจัด บางแห่งเป็นงานใหญ่ประจำปี งานบุญแห่เทียนพรรษา ชาวจังหวัดอุบลฯจัดเป็นงานใหญ่ทุกปีงานลอยเฮือไฟ ชาวจังหวัดนครพนมจัดเป็นงานใหญ่ประจำ และงานแห่ปราสาทผึ้งชาวเมืองสกลนคร จัดเป็นงานใหญ่ประจำ เป็นต้น ปัจจุบันนี้มีการฟื้นฟูการจัดงานฮีตสิบสองเป็นงานใหญ่ๆเพื่อการอนุรักษ์สินมรดกทางวัฒนธรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยวสู่จังหวัดด้วย

--------------------------------------------------------------------------------

คองสิบสี่
สำหรับ คองสิบสี่ ตามคติการถือปฏิบัติของชาวอีสานนั้น ถือเป็นหลักธรรมในการครองบ้านครองเรือนที่ควรปฏิบัติ ซึ่งหากใครที่ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดแล้วนับเป็นบุคคลอยู่ในศีลในธรรมเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไปหลักปฏิบัติ 14 ข้อ หรือ 14 ประการ ได้แก่
1. หูเมือง เป็นราชทูตต่างหน้าแทนบ้านเมือง หมายถึง เป็นบุคคลที่พูดจาไพเราะ อ่อนหวาน พูดจริง
2. ตาเมือง เป็นนักปราชญ์ มีความรอบรู้ในวิชาการบ้านเมือง รู้หลักธรรม
3. แก่นเมือง เป็นผู้ทรงคุณธรรม ยุติธรรม
4. ประตูเมือง เป็นผู้มีความสามารถในการใช้ศัตราวุทยุทธโธปกรณ์
5. รากเมือง เป็นผู้รอบรู้ในด้านโหราศาสตร์ ดาราศาสตร์
6. เหง้าเมือง เป็นผู้มีความซื่อสัตย์ ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์
7. ขางเมือง เป็นผู้ชำนาญในการออกแบบ ชำนาญในการศึก
8. ขื่อเมือง เป็นผู้มีตระกูลเป็นนักปราชญ์ผู้กล้าหาญ
9. แปเมือง เป็นผู้มีศีลธรรมอันดี ตัดสินคดีความเที่ยงธรรม
10. เขตเมือง เป็นผู้ทำหน้าที่พิทักษ์เขตเมือง รักษาเขตแดนบ้านเมือง
11. ใจเมือง เป็นผู้ทำหน้าที่ปกครองบ้านเมืองที่ดี
12. ค่าเมือง เป็นผู้พิทักษ์รักษาให้เมืองมีค่า มีเงินทอง ติดต่อค่าขาย
13. สติเมือง เป็นผู้รู้จักการรักษาพยาบาล หมอยา
14. เมฆหมอกเมือง เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ประดุจเทพอารักษ์พิทักษ์เมืองเป็นหลักเมือง
การถือคองสิบสี่ประการนี้นับเป็นการรักษาบ้านครองเรือนมีศีลธรรม มีทศพิธราชธรรม
Link เพิ่มเติม 1,2