วันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ภูดานไห บ้านในทางธรรมของข้าพเจ้า


องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เปรียบเหมือน "พ่อแม่ในทางธรรม" (ความเป็นจริง เป็นยิ่งกว่านี้) ที่คอยชี้แนะแนวทาง/ขนาบให้ลูกๆได้เดินตรงตามรอยธรรม

ภูดานไหนั่นเล่า เปรียบเหมือน "บ้านในทางธรรม" ที่แสนอบอุ่น อบอุ่นทั้งสภาวะธรรม ทั้งสภาวะแวดล้อม (สัปปายะ) ทั้งคุณแม่ คุณตา คุณยาย คุณพี่ คุณน้อง ที่เฝ้าคอยการกลับบ้านของเหล่านักรบธรรม (นรธ.) อยู่เสมอๆ สิ่งที่กล่าวมานี้ไม่ได้กล่าวเกินจริง แต่อาจจะเปรียบได้น้อยกว่าความเป็นจริงเสียด้วยซ้ำ

วาระการมาร่วมฟังธรรม ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม ที่ภูดานไห โดยเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละหนึ่งครั้ง แต่ละครั้งอาจจะหนึ่งคืน สองคืน หรือมากกว่า ตามโอกาสอำนวย ระหว่างที่อยู่ที่วัดก็เข้าสู่วิถีแห่งการปฏิบัติในทันที

ก็เพราะ "เวลาของเรานั้นมีน้อยนัก" น้อยทั้งเวลาที่อยู่ภูดานไหน้อยทั้งชีวิตอันแสนสั้น จึงต้องเร่งรีบ รีบทั้งอาการใส่ใจในธรรม รีบทั้งอาการใส่ใจในการดำเนินรอยตาม "ปฏิปทา" ซึ่งเป็นของ "ละเอียด"

ผู้ที่จักเรียกได้ว่าศิษย์สายกัมมัฏฐานที่แท้จริง จึงไม่ใช่แต่เพียงทำบุญ ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม บำเพ็ญสมาธิภาวนาได้เท่านั้น!

"ปฏิปทา" ขององค์ท่านกลับเป็นสิ่งสำคัญยิ่งนัก เรา นรธ.จึงควรคอยศึกษาเรียนรู้และปฏิบัติตาม เพราะสิ่งนี้...จักเป็นแม่แบบที่สะท้อนถึงครูบาอาจารย์...กว่าท่านจักยอมรับ "ศิษย์ที่แท้จริง" ได้แต่ละคนนั้นไม่ใช่ของง่าย ผู้เขียนอยู่นี้ก็ยังมิบังอาจ อาจเอื้อมไปขนาดนั้น เพราะรู้ปฏิปทาของตนยังอ่อนด้อยและห่างไกลอยู่ จึงเป็นได้แต่เพียงผู้ศึกษาตามแนวทางธรรมที่กล่าวมาข้างต้น หรือเตรียมอนุบาลก็คงไม่ผิดจากความจริงนัก

แต่แม้ว่า "เวลาจะน้อย" ปานใด ดูเหมือนจะยังไม่ค่อยอิ่มดีนัก ก็ได้เวลากลับบ้านในทางโลกเสียแล้ว พอกลับมาบ้าน ก็สังเกตุเห็นว่า นรธ.ส่วนใหญ่จะมีอะไรดีๆกลับมาโดยอัตโนมัติ (หากรู้จักสังเกตุ) กล่าวคือ ดูเหมือนเราได้รับพลังแฝงอะไรบางอย่างกลับมา การปฏิบัติก็มีความเพียรคอยขยับขึ้นไปเรื่อยๆ

องค์พ่อแม่ครูอาจารย์ตักเตือนเสมอว่า "ไม่ใช่ว่าให้เคร่งครัดเฉพาะเวลาที่อยู่กับท่านที่นี่ ต้องทำให้ได้แม้จะอยู่ห่างไกลกัน" สิ่งนี้ข้าพเจ้าเฝ้าตระหนักเสมอ แต่ก็หลุดได้เสมอเช่นกัน

ดังนั้น "ปฏิปทา" จึงต้องเป็นไปแบบปกติวิสัย ทั้งยามที่มีท่านและยามที่ไม่มีท่าน จึงจักเรียกตนเองว่า "พุทธบุตร" ได้

ลูกขอน้อมกราบ กราบ กราบ ถึงองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์อันเป็นที่เคารพยิ่งเหนือเศียรเกล้า สาธุ สาธุ สาธุ


(บันทึกไว้เมื่อ : ๓๑ มกราคม ๒๕๕๕)