วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2554

55: พระพุทธรูปองค์แรกในพระพุทธศาสนา


พระพุทธรูปองค์แรกในพระพุทธศาสนา
พระพุทธรูปองค์แรกในพุทธศาสนาสร้างขึ้นภายหลังจากที่พระพุทธเจ้า ตรัสรู้แล้ว ๗ ปี ในครั้งนั้นพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยประทับจำพรรษาอยู่บนสวรรค์นานถึง ๓ เดือน พระเจ้าอุเทนแห่งกรุงโกสัมพีผู้เคยทรงเฝ้าใกล้ชิดพระพุทธเจ้าทรงรำลึกถึงพระองค์เป็นอย่างยิ่ง จึงทรงอาราธนาพระโมคคัลลาน์ พระอัครสาวกเบื้องซ้ายผู้ทรงฤทธิ์มาก ให้พานายทุสิทะช่างแกะสลักฝีมือเอกขึ้นไปบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อจะได้เห็นพระพุทธเจ้าแล้วจดจำพระพุทธลักษณะไว้

เมื่อกลับมายังโลกมนุษย์ นายทุสิทะก็แกะสลักไม้แก่นจันทน์แดงอันหอมและมีค่ามากให้เป็นพระพุทธปฏิมาที่งามสมบูรณ์ เป็นพระพุทธรูปยืนสูงประมาณ ๖-๗ เมตร แล้วอัญเชิญประดิษฐานไว้ในพระวิหาร โดยมีฉัตรศิลาแขวนห้อยอยู่ ณ เบื้องบนองค์พระพุทธรูป

ในกาลต่อมา ประมาณ พ.ศ. ๑๑๗๒ ผู้ที่ได้เคยพบเห็นพระพุทธรูปองค์แรกนี้ด้วยตาตนเองคือ พระภิกษุเฮี่ยนจัง (พระถังซัมจั๋ง) ซึ่งได้เดินทางไปอินเดีย เมื่อจะกลับจากอินเดียท่านได้จำลองพระพุทธรูปองค์นี้ให้เป็นขนาดเล็ก แล้วอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ประเทศจีนพร้อมกับพระไตรปิฎก

ส่วนพระพุทธรูปองค์ที่สองที่มีชื่อว่า พระจันทนพิมพ์ นั้น พระเจ้าปเสนทิโกสลแห่งกรุงสาวัตถี เป็นผู้สร้างไว้ก่อนพระพุทธเจ้าจะเสด็จปรินิพพาน ๗ ปี สาเหตุแห่งการสร้างเกิดจากเย็นวันหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกสลมีพระราชประสงค์จะทรงสดับพระธรรมเทศนาจากพระพุทธเจ้าดังที่ได้ทรงปฏิบัติมาเป็นนิตย์จึงเสด็จไปเฝ้า แต่ไม่ทรงพบ เพราะพระพุทธเจ้าเสด็จไปทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดเวไนยสัตว์นอกเขตพระเชตวัน ยังไม่เสด็จกลับมา พระเจ้าปเสนทิโกสลจึงรู้สึกโทมนัสพระทัยว่า เมื่อใดที่พระพุทธเจ้ามิได้ประทับอยู่ในพระเชตวันวิหารก็ทำให้รู้สึกว่าขาดพระองค์ไป จึงได้แต่ทรงบูชาพระพุทธอาสน์แทนองค์พระพุทธเจ้าในวันนั้น

ในวันต่อมาพระเจ้าปเสนทิโกสลจึงกราบทูลขอพระอนุญาตพระพุทธเจ้าสร้างพระพุทธปฏิมาไว้ เพื่อว่าเวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดสัตว์ที่อื่น บรรดาพุทธศาสนิกชนผู้ศรัทธาจะได้สักการบูชาพระพุทธรูปแทนพระองค์ตลอดไป พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาต พระเจ้าปเสนทิโกสลจึงให้นายช่างสร้างพระพุทธรูปด้วยไม้แก่นจันทน์แดงอันหาค่ามิได้ เป็นพระพุทธรูปนั่ง องค์พระพุทธรูปสูง ๒๒ นิ้ว กว้าง ๒๓ นิ้วครึ่ง (วัดจากพระอังสาด้านขวาถึงด้านซ้าย) และโปรดให้สร้างพระมณฑปซึ่งล้วนแล้วด้วยแก้ว ๗ ประการ แล้วให้อัญเชิญพระพุทธรูปอันงามสมบูรณ์ยิ่งประดิษฐานบนบุษบกเรือนแก้วกลางพระมณฑปนั้น

พระพุทธรูป พระจันทนพิมพ์ ที่พระเจ้าปเสนทิโกสลสร้างขึ้นนี้ตามประวัติมีว่า ต่อมาได้ตกทอดมาประดิษฐาน ณ ดินแดนทางเหนือของไทยคือที่จังหวัดตาก ภายหลังมีผู้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดปทุมารามในเมืองพะเยา วัดศรีภูมิ วัดสวนดอก และวัดเจ็ดยอด (วัดมหาโพธาราม) ในจังหวัดเชียงใหม่ตามลำดับ แต่ปัจจุบันนี้ไม่ปรากฏองค์พระพุทธรูปแล้ว
--------------------------------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
๑. จดหมายเหตุแห่งพุทธอาณาจักรของพระภิกษุฟาเหียน ซึ่งได้ออกจากเมืองจีนท่องเที่ยวไปเพื่อแสวงหาคัมภีร์พระไตรปิฎกในประเทศอินเดียตลอดถึงสิงหล ตั้งแต่ พ.ศ. ๙๔๒ ถึง ๙๕๗. พระยาสุรินทร์ฤาชัย ( จันทร์ ตุงคสวัสดิ์ ) แปลและเรียบเรียงจากต้นฉบับของศาสตราจารย์ เจมส์ เล็กส์. เอ็ม. เอ. แอลแอล. ดี. พมิพ์ครั้งที่ ๓ มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ๒๕๒๒ หน้า ๕ - ๑๐๒
๒. ประวัติพระถังซัมจั๋ง แปลจากต้นฉบับภาษาจีนเป็นภาษาไทย โดยนายเคงเหลียน สีบุญเรือง พิมพ์เป็นธรรมานุสรณ์ ในงานฌาปนกิจศพนายเอี่ยงยี่ เจริญ-สถาพร (โยมเตี่ยของท่าน กิตติวุฑโฒ ภิกขุ ขณะนั้น) ๒๕ เมษายน ๒๕๑๕ หน้า ๑-๒๗๖
๓. ปัญญาสชาดก. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรบริการ, ๒๔๙๙.

การสร้างพระพุทธรูปเพื่อสักการบูชา
อานิสงส์ที่จะได้รับคือ จะได้ไปเกิดในเทวโลก มียศมากมีอานุภาพมากเสมือนดังพระอาทิตย์ที่มีรัศมีอันแรงกล้า จะได้เสวยสุขอันเป็นทิพย์ มีเหล่าเทพบุตรเทพธิดาแวดล้อมบำรุงบำเรออยู่ ครั้นเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ จะเกิดเป็นพระราชามหากษัตริย์ จะเกิดอยู่ในตระกูลที่สูงศักดิ์ มีทรัพย์มาก มีบริวารมาก มีรูปกายงดงามสมส่วน อวัยวะครบถ้วนบริบูรณ์ มีผิวพรรณผ่องใส มีอายุยืน มีจิตน้อมไปในศีล สมาธิและปัญญา แม้นยังไม่สามารถบรรลุธรรมได้ในปัจจุบันชาติ ก็จะได้ไปบังเกิดในศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรย จะมีปัญญาคมกล้าสามารถตัดกิเลสตัณหาให้หมดสิ้นไป ถ้าตั้งความปรารถนาเพื่อการบรรลุพระสัพพัญญุตญาณเป็นพระพุทธเจ้าในโลก กุศลนี้จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ได้สมดังความปรารถนา

พระเจ้าปเสนทิโกสลเคยทูลถามถึงอานิสงส์ของการสร้างพระพุทธรูป พระพุทธเจ้าได้มีพระพุทธดำรัสตอบว่า ผู้ใดสร้างพระพุทธรูป ไม่ว่าจะด้วยวัตถุชนิดใดจะประสบแต่ความสุขในภายหน้า คิดปรารถนาสิ่งใดก็จะได้สมดังปรารถนา ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า

บุรุษหรือสัตรีผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งประกอบด้วยศรัทธา เมื่อได้สร้างทำพระพุทธปฏิมากรขึ้นไว้ในพระพุทธศาสนา พระพุทธปฏิมากรนั้นบุคคลจะสร้างทำด้วยดินเหนียวหรือศิลาก็ตาม หรือจะทำด้วยโลหะแลทองแดงก็ตาม หรือจะทำด้วยไม้แลสังกระสีดีบุกก็ตาม หรือจะทำด้วยรัตนะแลเงินทองก็ตาม ผู้ที่สร้างทำนั้น จักได้อานิสงส์ผลเปนอันมากพ้นที่จะนับจะประมาณ อนึ่ง ดูกรบพิตรพระราชสมภาร เมื่อพระพุทธปฏิมากรประดิษฐานอยู่ในโลกตราบใด โลกก็เชื่อว่าไม่ว่างเปล่าจากพระพุทธเจ้าตราบนั้น พระพุทธปฏิมากรนี้ได้ชื่อว่ายังพระพุทธศาสนาให้ตั้งมั่นถาวร อีกประการหนึ่ง ผู้ที่ได้สร้างทำพระพุทธปฏิมากรแล้วนั้น จะมีแต่ความสุขเปนเบื้องหน้า แม้จะปรารถนาผลใด ก็จักได้ผลอันนั้นสำเร็จดังมโนรถปรารถนา( จากวัฏฏังคุลีราชชาดก )

การปิดทององค์พระพุทธรูป
อานิสงส์ที่จะได้รับคือ จะเป็นผู้ที่มีจิตใจผ่องใส ไม่เศร้าหมองจนเกินไป จะได้เกิดอยู่ในสุคติภูมิ แม้นว่าเกิดมาเป็นมนุษย์จะมีผิวพรรณที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง ปราศจากมลทินใดๆ เป็นที่ต้องตาต้องใจของผู้ได้พบเห็น จะมีทรัพย์สมบัติมาก และเป็นที่เคารพยกย่องของคนทั่วไป
--------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ: จากพระสูตรและอรรถกถา (แปล). ขุททกนิกาย อปทาน เล่มที่ ๘, ภาคที่ ๒ . กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์พิมพ์เนื่องในวกาสครบ ๒๐๐ ปีแห่งพระราชวงศ์จักรี กรุงรัตนโกสินทร์ พุทธศักราช ๒๕๒๕)
__________________