วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2557

พระสุพรรณเจดีย์




พระสุพรรณเจดีย์ เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุหรือพระธาตุ งดงามวิจิตรบรรจงลงรักปิดทองด้วยฝีมือช่างสิบหมู่ มีความสูง 24 นิ้ว ฐานกลม กว้าง 12 นิ้ว 
อัญเชิญน้อมถวายองค์พ่อแม่ครูอาจารย์ พ.สุรเตโช เพื่อน้อมอัญเชิญอัฐิธาตุองค์หลวงปู่จาม มหาปุญโญ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม ตำบลห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร มาประดิษฐานยังพุทธสถานภูดานไห หมู่ที่ 13 ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ในระหว่างวันที่ 23-24 มีนาคม 2557

ขอเรียนเชิญ คณะศิษยานุศิษย์และญาติธรรมทั้งหลาย ร่วมมหาบุญกุศลนี้โดยพร้อมเพรียงกัน
ขอนอบน้อมกราบ กราบ กราบ
สาธุ สาธุ สาธุ
………………………………………………
ประวัติโดยย่อ
หลวงปู่จาม มหาปุญโญ เกิดในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ช่วงก่อนที่จะทรงเสด็จสวรรคต ( ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ ) ในสกุล ผิวขำ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 พ.ค. 2453 ตรงกับวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ที่บ้านห้วยทราย อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร บิดา-มารดา ชื่อ นายกา และนางมะแง้ ผิวขำ ครอบครัวมีพี่น้องร่วมอุทรรวม 9 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 3 เมื่อวัยเยาว์ อายุได้ 6 ขวบ พ่อแม่พาไปกราบหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์สายพระป่า ซึ่งได้มาจำพรรษาอยู่ใกล้บ้านที่ภูผากูด คำชะอี

กระทั่งอายุได้ 16 ปี โยมพ่อแม่ได้พาไปถวายตัวกับหลวงปู่มั่น ที่ จ.อุบลราชธานี ให้นุ่งขาวห่มขาวเป็นเวลา 9 เดือน ปีถัดมา เข้าพิธีบรรพชา อยู่รับใช้ หลวงปู่มั่น ที่บ้านหนองขอน อ.บุ่ง จ.อุบลราชธานี ได้มีโอกาสรับใช้ใกล้ชิดครูบาอาจารย์หลายท่าน อาทิ หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, หลวงพ่อลี ธัมมธโร, หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม เป็นต้น

แต่ผ่านไปได้เพียง 2 ปี จำต้องลาสิกขาออกมา เพื่อรักษาโรคเหน็บชา อันเนื่องมาแต่ตกบันไดกุฏิ และการประกอบความเพียรมากเกินไป เช่น นั่งภาวนาในน้ำ ถือไม่นอน และฉันน้อย เป็นต้น ทำให้ต้องหันกลับไปใช้ชีวิตเป็นฆราวาส ประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา ค้าขาย เมื่ออายุได้ 27 ปี พ่อกา (โยมพ่อ) ได้บวชเป็นพระภิกษุ (ใช้ชีวิตอีก 6 ปี ก็มรณภาพ) ส่วนแม่มะแง้ (โยมแม่) ได้บวชชี (ใช้ชีวิตอีก 36 ปี จนถึงแก่กรรม) ก่อนที่จะไปกราบไหว้พระธาตุพนม จ.นครพนม เพื่ออธิษฐานขอบวชในพระพุทธศาสนา

เมื่ออายุได้ 29 เต็มปีบริบูรณ์ จึงได้อุปสมบท เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2482 ที่วัดโพธิสมภรณ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยมี พระเทพกวี (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์

หลังอุปสมบท ท่านออกธุดงค์ไปทางภาคเหนือ ได้จำพรรษาสังกัดวัดเจดีย์หลวง ถึง 32 พรรษา โดยอยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวง ปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่ อีกทั้ง ยังเคยออกธุดงค์หาประสบการณ์ในเขตภาคอีสาน เคยปฏิบัติธรรมร่วมกับเกจิอาจารย์หลายรูป อาทิ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ จ.เลย, หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู, หลวงพ่อลี ธัมมธโร วัดอโศการาม จ.สมุทร ปราการ, หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม วัดป่าบ้านข่า จ.นครพนม เป็นต้น

พ.ศ.2521 เดินธุดงค์กลับมาทางภาคอีสานและเดินธุดงค์มายังบ้านเกิด คือ บ้านห้วยทราย อ.คำชะอี และจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าวิเวกวัฒนาราม ชาวบ้านและคณะศิษยานุศิษย์ นิมนต์ให้ท่านจำพรรษาปักกลดที่วัดป่าวิเวกวัฒนาราม และพัฒนาให้เป็นที่พำนักนั่งวิปัสสนากรรมฐานเผยแผ่พระธรรมปรมัตถ์แผ่เมตตาให้แก่ชาวบ้านในละแวกนั้นตลอดจนปัจจุบัน
ผลงานที่เป็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
         หลวงปู่จาม  มหาปุญโญ   ท่านเป็นพระที่อารมณ์ดี   มีเมตตาสูง   ปฏิบัติตามกฎระเบียบ  วินัยพระ อย่างเคร่งครัด    แม้ว่าสุขภาพไม่ดี ท่านก็ยังออกบิณฑบาต ทุกเช้า ไม่เบื่อหน่ายในความเพียร   จึงทำให้มีศิษยานุศิษย์ ทั่วประเทศ พุทธศาสนิกชน   หลั่งไหลมาฟังพระเทศนา  ของหลวงปู่จามอยู่มิได้ขาด   วันหนึ่ง ๆ   มีญาติโยมมาเป็นจำนวนมากแต่หลวงปู่จาม  ก็ไม่เคยบ่นมีแต่ความพึงพอใจ  ที่ได้เทศนาสั่งสอน  ด้วยใบหน้ายิ้มละไมอยู่เป็นนิจ   ครั้งหนึ่ง  ท่านเคยกล่าวว่า   “  คนเรา เมื่อประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในกรอบแห่งศีลธรรม  อยู่ในความไม่ประมาท  หมั่นบำเพ็ญบุญ  สวดมนต์ไหว้พระทุกวัน แล้วก็ไม่ต้องวิ่งไปหาพระที่ไหนชีวิตก็เป็นสุข ”  ซึ่งหลวงปู่ ได้สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัด แก่พุทธศาสนิกชน ทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ   ดังนี้
 ๑.  เทศนาสั่งสอน ญาติโยมที่มานมัสการหลวงปู่ ทุกวันพระ  และวันสำคัญจะมีประชาชนมาเป็นจำนวน  ๑๐๐ - ๒๐๐  คนขึ้นไป
 ๒.  หลักธรรม คำสั่งสอนของหลวงปู่ ได้มีคนบันทึกเทปไว้เป็นจำนวนมาก
 ๓.  หลวงปู่จาม มีความคิด ริเริ่มสร้างสรรค์ธรรมชาติให้เป็นที่นั่งวิปัสสนา ได้อย่างกลมกลืนร่มรื่น ปราศจากสิ่งรบกวน
 ๔.  สร้างพระเจดีย์ทรงจุฬามณีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
 ๕.  สร้างกุฏิเสาเดียว  จำนวน  ๑๑  หลัง
 ๖.  สร้างศาลาการเปรียญ และหอฉันสำหรับไว้เทศนาญาติโยมในวันสำคัญต่าง ๆ

         คุณความดี  ผลงานของท่านล้วนเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง  สรรเสริญ  ที่บุคคลทั่วไปควรยึดไว้เป็นที่พึ่งและเป็นตัวอย่างที่เราควรจะจารึกไว้ให้แก่ประชาชนทั่วไป  ได้เลื่อมใสศรัทธา  ปฏิบัติตามธรรมคำสั่งสอนของท่านจนกว่าชีวิตจะหาไม่
หลวงปู่จาม มรณภาพอย่างสงบด้วยโรคปอดติดเชื้อ สิริอายุ 104 พรรษา 75 ขณะนำตัวส่งโรงพยาบาลมุกดาหาร เมื่อช่วงเช้าวันที่ 19 ม.ค. 2556


ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงสรีรสังขารหลวงปู่จาม ในวันอาทิตย์ที่ 5 ม.ค. 2557 เวลา 17.00 น. ณ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม ต.คำชะอี อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร