วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

259: พันธนาการสามประการ

ภาพประกอบจากพุทธประวัติ (http://th.wikipedia.org/wiki/พุทธประวัติ)

สบายดีวันพระ : พันธนาการ(บ่วงในสังสารวัฏ)สามประการ

๑. ปุตโต คีเว : มีบุตรบ่วงหนึ่งเกี้ยว พันคอ
๒. ธนัง ปาเท : ทรัพย์ผูกบาทาคลอ หน่วงไว้
๓. ภริยา หัตเถ : ภรรยาเยี่ยงบ่วงหนอ รึงรัด มือนา
... สามบ่วงใครพ้นได้ จึ่งพ้นสงสาร

โคลงโลกนิติจากพุทธภาษิต
ภาพประกอบจากพุทธประวัติ
(๑. ปุตโต คีเว มีลูกผูกคอ
๒. ธะนัง ปาเท มีทรัพย์ผูกเท้า
๓. ภริยา หัตเถ มีภรรยาผูกมือ)

วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

258: บทกลอนบูชาคุณพระรัตนตรัย


 

บทกลอนบูชาคุณพระรัตนตรัย 
(*บทสวดสรภัญญะมรดกชาวอีสาน)

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า 3 หน )
มาลาดวงดอกไม้ ๆ มาตั้งไว้เพื่อบูชา
บูชาคุณพระพุทธ ๆ ผู้สูงสุดในโลกา
มาลาดวงดอกไม้ ๆ มาตั้งไว้เพื่อบูชา
บูชาคุณพระธรรม ๆ ผู้ได้นำบำเพ็ญมา
มาลาดวงดอกไม้ ๆ มาตั้งไว้เพื่อบูชา
บูชาคุณพระสงฆ์ ๆ ผู้ดำรงพระวินัย
มาลาดวงดอกไม้ ๆ มาตั้งไว้เพื่อบูชา
บูชาคุณพระพุทธ ทั้งพระธรรม พระสงฆ์พร้อม
ด้วยจิตอันนอบน้อม ๆ พร้อมทั้งครูผู้มีคุณ
ขอบุญอันส่วนนี้ ๆ จงเกิดมีแก่ข้าฯ เทอญ

กราบ กราบ กราบ
***************************
* ประวัติสรภัญญ์ : เป็นทำนองสวดทำนองหนึ่ง มีจุดกำเนิดมาจากการสวดทางพุทธศาสนา เป็นทำนองเทศน์ในตอนแรก เทศน์โปรดพุทธศาสนิกชน ต่อมาจึงฝึกให้ฆราวาสร้อง การร้องในภาคอีสาน มีกันแพร่หลายในเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวบ้านว่างจากการทำนา และรอช่วงการเก็บเกี่ยวมาถึง ชาวบ้านใช้เวลานี้ไปร่วมทำบุญที่วัด เช่น จัดทำดอกไม้ ในสมัยก่อนจัดทำน้ำมันจากพืช เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงจุดให้มีแสงสว่างพอที่พระสงฆ์จะใช้เวลากลางคืน นอกจากนี้มีสตรีจับกลุ่มกันร้องสารภัญญ์โดยมีรุ่นเก่าเป็นผู้ฝึก  ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาหมู่บ้านต่างๆจะมีประเพณีทอดเทียน ทอดสาด หมู่บ้านที่เป็นเจ้าภาพ จะเชิญหมู่บ้านต่างๆ ส่งคณะสรภัญญ์เข้าประกวดกัน จะประกอบด้วยสตรีอายุประมาณ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 3-7 คน คนที่มีเสียงไพเราะที่สุดจะเป็นห้วหน้า และจากผลดังกล่าวงชาวบ้านเกิดความรักความสามัคคีกันในหมู่คณะและเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีด้วยเพื่อให้คงอยู่กับคนไทยตราบนานแสนนาน

บทร้องสรภัญญ์ : จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา สรรเสริญบูชาคุณพระรัตนตรัย เล่าเรื่องพุทธประวัติ บทสวดคุณของบิดามารดา  บทสวดไหว้ครู เป็นต้น
"มาลาเอ้ย ขอก้านเจ้าแหน่ ก้านเจ้าไห่ บุญได้ส่ำกัน"

เป็นคำกล่าวสั้นๆที่คุณแม่คอยพร่ำสอนให้เรากล่าวกับต้นดอกไม้ก่อนเด็ดดอกไม้
เพื่อไปให้คุณยายหรือคุณพ่อน้อมนำไปบูชาพระเป็นประจำตั้งแต่ยังเยาว์

ณ ตอนนั้นยังไม่ค่อยเข้าใจในคำกล่าวมากนัก แต่สุขใจทุกครั้งที่ได้ทำหน้าที่นี้....
ขอน้อมกราบบูชาคุณพระแม่ธรณี ตลอดทั้งเทวดาอารักษ์ทั้งหลาย กล่าวคือ ภุมเทวดา เคหะเทวดา รุกขเทวดา อากาศเทวดา ตลอดทั้งนาค ครุฑ กุมภัณฑ์ แลคนธรรพ์ ที่ได้พิทักษ์รักษาผืนดิน ผืนป่า ผืนน้ำ ผืนอากาศ พาให้หมู่มวลมนุษย์ได้อิงแอบอาศัยนำมาซึ่งผลดอก ผลไม้ ผลบุญ ผลต่างๆ ประกอบคุณงามความดีน้อมบูชาคุณพระรัตนตรัย พาให้จิตใจใสสะอาดสูงขึ้นๆ ขอให้ท่านมีส่วนในบุญนั้นๆทุกประการ สาธุๆ
คนเฒ่าคนแก่ชาวอิสานท่านมักปลูกฝังลูกหลาน ให้รู้จักการรับ การให้ การเสียสละแบ่งปัน การกตัญญูรู้คุณโดยไม่จำกัดขอบเขตแต่เพียงมนุษย์ แม้เพียงเล็กน้อยก็ให้หาโอกาสตอบบุญแทนคุณ เป็นสายใยผูกพันธุ์อันดีมิให้เสื่อมหายคลายจาก...

การสะสม "บุญ" นำสุขมาให้แท้น๊อ

วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556

257: ภพชาติในอดีตขององค์หลวงปู่จาม มหาปุญโญ


การเกิดการตายของหลวงปู่ตั้งแต่ชาติชีวิตที่เคยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์
- เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ๗ ชาติ อยู่เพชรบูรณ์ ก่อนพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันมาตรัส ๓๐,๐๐๐ ปี
- มาเกิดเชียงใหม่
- ไปเกิดอยู่สิบสองปันนา สิบสองจุไท ก่อนพุทธศาสนา ๒๘,๐๐๐ ปี
- มาเกิดอยู่มุกดาหาร เป็นกษัตริย์ ๗ ชาติ ราษฏร ๕ ชาติ ก่อนพุทธศาสนา ๑๓,๐๐๐ ปี
- เกิดปราจีนบุรี เป็นเจ้านาย ๔ ชีวิต ก่อนพุทธศาสนา ๖,๕๐๐ ปี
- เกิดอยู่ลพบุรี เป็นราษฏร ๓ ชีวิต เป็นกษัตริย์ ๕ ชีวิต ก่อนพุทธศาสนา ๓,๐๐๐ ปี
- เกิดอยู่พาราณสี
- เกิดอยู่กรุงกบิลพัสดุ์ เป็นเจ้าสีหนุราช
- เกิดอยู่เนปาล บวชเป็นฤาษี มีหมู่ ๕๐๐ ตน เป็นฤาษีณี ๒๕๐ ตน ฤาษี ๒๕๐ ตน มีพระเถระเจ้าจากอินเดียธุดงค์
ไปโปรดขณะนั้นอยู่ ๑๘ ปี พวกฤาษีสาวกทั้ง ๕๐๐ ได้สำเร็จธรรมะหมด เหลือแต่เราคนเดียว
- เกิดอยู่เวียงจันทร์ ฟังธรรมพระมหากัจจายนะ อายุ ๑๔ ปี เป็นลูกคู่แฝดกับย่าแก้ว (คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ)
- เกิดเวสาลี อายุ ๑๘ ปี ตอนสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งที่ ๒ อายุ ๓๑ ปีตาย แล้วเกิดอีกบวชเป็นพระ อายุ ๔๐ ปีตาย
- เกิดภูฎาน อาฬวี สร้างวัดใหญ่ที่สุด อายุ ๕๕ ปีตาย ได้พระบรมสารีริกธาตุ ๓ บาตร และพระธาตุสาวกอีกมากมาย
- เกิดเมืองลังกา เป็นกษัตริย์ เทวนัมปิยะ ทำสังคายนา อายุ ๕๐ ปีตาย
- เกิดเป็นนายทหาร อยู่นครวัด อายุ ๗๓ ปี
- เกิดเป็นลูกเศรษฐี อยู่เมืองอุทุมพร อายุ ๕๕ ปี
- เกิดนครวัด แล้วมาสร้างพนมรุ้ง อายุ ๖๓ ปี
- เกิดเป็นลูกเจ้าเมืองสุรินทร์ ๔ ชีวิต ตายอายุ ๓๓ ปีทุกชีวิต (โทษสมัยฆ่าเข้า ๕๐๐ คน เมืองกุสินารา)
- เกิดพิษณุโลก ๓๐ ปีตาย
- เกิดเมืองเชียงแสน
- เกิดเมืองลังกา เป็นกษัตริย์องค์ที่ ๕ อายุ ๕๕ ปี
- เกิดพิษณุโลก สร้างวัดเขาสมอแครง อายุ ๕๓ ปี
- เกิดเมืองเชียงแสน เป็นพรหมราช สร้างพระธาตุจอมกิติ
- เกิดลำพูนเป็นลูกชายเจ้าแม่จามเทวี อายุ ๙๐ ปี
- เกิดเชียงใหม่ บ้านหนองอุกนาหวาย สร้างวัด ๖ วัด อายุ ๕๕ ปี
- เกิดแม่ทะ เป็นนายบัณฑิต เทศน์ธรรมสอนผู้คนอายุ ๕๕ ปี
- เกิดเมืองซัวเถา เป็นเศรษฐี อายุ ๕๕ ปี ตายมาเป็นกษัตริย์ อายุ ๖๓ ปี ตายมาเป็นฮ่องเต้ อายุ ๖๓ ปี
- เกิดเชียงแสน เป็นพญาเม็งราย บูรณะเชียงใหม่
- เกิดจังหวัดตาก อำเภอสามเงา เป็นคนเผาถ่าน อายุ ๔๑ ปี
- เกิดแม่สอด เป็นคนเลี้ยงโค ๓๐๐ ตัว อายุ ๕๕ ปี
- เกิดจังหวัดตาก บวชอยู่วัดสีตลาราม อายุ ๔๑ ปีตาย
- เกิดเชียงแสน เป็นพระเจ้าแสนภูมิ อายุ ๕๕ ปี
- เกิดเมืองเว้ เป็นกษัตริย์อายุ ๔๐ ปี
- เกิดเชียงใหม่ เป็นพระเจ้ากือนา ฟ้าผ่ากลางเวียง สร้างวัด หล่อพระมากหลายร้อย
- เกิดกรุงศรีอยุธยา ทำสงครามกับพม่า
- เกิดลพบุรี เป็นไก่ ๕ ชีวิต เป็นตาผ้าขาว อายุได้ ๓๓ ปีตาย
- เกิดกรุงเทพ เป็นราชโอรสของพระจอมเก้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๔
- เกิดเป็นหลวงปู่ อยู่บ้านหัวยทราย มุกดาหาร

หลวงปู่จาม มหาปุญโญ ผู้มากมีบุญ
ขอน้อมกราบ กราบ กราบ องค์หลวงปู่จาม มหาปุญโญ ด้วยเศียรเกล้า

วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2556

256: มงคล ที่ ๕ มีบุญวาสนามาก่อน

มงคล ที่ ๕ มีบุญวาสนามาก่อน

 ผลไม้พันธุ์เลว ถึงจะใส่ปุ๋ยรดน้ำพรวนดินดีอย่างไรก็ตาม อย่างมากก็ทำให้มีผลดกขึ้นบ้าง แต่จะทำให้มีรสโอชาขึ้นกว่าเดิมนั้นยาก ตรงกันข้าม ผลไม้พันธุ์ดี แม้รดน้ำพรวนดินเพียงพอประมาณ ก็ให้ผลมากเกินคาด  รสชาติก็โอชา เช่นกัน ผู้ที่ไม่ได้สั่งสมคุณความดีมาก่อน เมื่อประกอบกิจใดๆ ถึงขยันขันแข็งสักปานไหน ผลแห่งความดีกว่าจะปรากฏเต็มที่ ก็ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักและเสียเวลามาก ส่วนผู้ที่สั่งสมคุณความดีมาก่อน เมื่อทำความดี ผลดีปรากฏเต็มที่ทันตาเห็น ส่งผลให้มีความเจริญก้าวหน้า เหนือกว่าบุคคลทั้งหลายได้อย่างน่าอัศจรรย์

บุญคืออะไร ?
            บุญ คือสิ่งซึ่งเกิดขึ้นในจิตใจแล้วทำให้จิตใจใสสะอาด ปราศจากความเศร้าหมองขุ่นมัว  ก้าวขึ้นสู่ภูมิที่ดี  เกิดขึ้นจากการที่ใจสงบทำให้เลือกคิดเฉพาะสิ่งที่ดี ที่ถูก ที่ควร ที่เป็นประโยชน์  แล้วพูดดี ทำดี ตามที่คิดนั้น
            บุญ เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมส่งผลปรุงแต่งใจของเราให้มี คุณภาพดีขึ้น คือ ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว บริสุทธิ์ผุดผ่องสว่างไสว โปร่งโล่ง ไม่อึดอัด อิ่มเอิบ ไม่กระสับกระส่าย  ชุ่มชื่นเบาสบาย  ผ่อนคลายไม่ตึงเครียด  นุ่มนวลควรแก่การใช้งาน  และบุญที่เกิดขึ้นนี้ยังสามารถสะสมไว้ในใจได้อีกด้วย
            คนทั่วไปแม้จะมองไม่เห็น “บุญ” แต่ก็สามารถรู้อาการของบุญ หรือผลของบุญได้ คือเมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้จิตใจชุ่มชื่นเป็นสุข เปรียบได้กับ “ไฟฟ้า” ซึ่งเรามองไม่เห็นตัวไฟฟ้าโดยตรง แต่เราสามารถรับรู้อาการของไฟฟ้าได้ เช่น เมื่อไฟฟ้าผ่านเข้าไปในหลอดไฟแล้วเกิดแสงสว่างขึ้น หรือเมื่อผ่านเข้าไปในเครื่องปรับอากาศแล้วเกิดความเย็นขึ้น เป็นต้น

มงคล ที่ 5 มีบุญวาสนามาก่อน มงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า
คุณสมบัติของบุญ
            ๑.        ชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาดได้
            ๒.        นำความสุขความเจริญก้าวหน้ามาให้
            ๓.        ติดตามตนไปทุกฝีก้าว แม้ไปเกิดข้ามภพข้ามชาติ
            ๔.        เป็นของเฉพาะตน ใครทำใครได้ โจรลักขโมยไม่ได้
            ๕.        นำมาซึ่งโภคทรัพย์สมบัติทั้งหลาย
            ๖.        ให้มนุษย์สมบัติ ทิพย์สมบัติ นิพพานสมบัติ แก่เราได้
            ๗.        เป็นเกราะป้องกันภัยในวัฏฏสงสาร
            ๘.        เป็นปัจจัยให้บรรลุมรรคผลนิพาน

ประเภทของบุญในกาลก่อน
            บุญในกาลก่อนแบ่งเป็น ๒ ชนิด ได้แก่
            ๑.        บุญช่วงไกล คือคุณความดีที่เราทำจากภพชาติก่อน มาจนถึงวันคลอดจากครรภ์มารดา
            ๒.        บุญช่วงใกล้ คือคุณความดีที่เราทำในภพชาติปัจจุบันตั้งแต่คลอดจนถึงวันนี้
           บุญช่วงไกล การสั่งสมความดีมาแต่ภพชาติก่อน  ส่งผลให้เราเห็นในปัจจุบัน เปรียบเสมือนผลไม้ที่คัดพันธุ์มาดีแล้ว รสโอชะของมันย่อมติดมาในเมล็ด เมื่อนำเมล็ดนั้นมาปลูก ต้นของมันย่อมให้ผลที่รสอร่อยทันทีโดยไม่ต้องทะนุบำรุงมาก คนเราก็เช่นกัน ถ้าในอดีตชาติสะสมความดีมามากพอ เกิดมาชาตินี้ก็เป็นคนใจใส ใจสะอาดบริสุทธิ์มาตั้งแต่เด็ก มีสติปัญญาดีมาแต่กำเนิด รูปร่างสง่างาม ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ มีโอกาสสร้างความดีได้มากกว่าคน  ทั้งหลาย ถ้าไม่ประมาทหมั่นสะสมความดีในปัจจุบันเพิ่มขึ้นอีก ก็จะเจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว  แต่ถ้าประมาทไม่เอาใจใส่ในการทำความดีในปัจจุบัน ก็เปรียบเสมือนต้นไม้ยอดด้วน  ยากที่จะเจริญเติบโตต่อไปได้

            บุญช่วงใกล้ คนที่ทำความดีตั้งแต่เล็กเรื่อยมา เช่น ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ขยันหมั่นเพียร คบคนดีเป็นมิตร ฝึกใจให้ผ่องใสมาตั้งแต่เด็ก ความคิด คำพูด การทำงาน ย่อมดีกว่าบุคคลอื่นในวัยเดียวกัน เมื่อเติบโตขึ้น ย่อมมีความเจริญก้าวหน้ามากกว่าผู้อื่น
            เพราะฉะนั้นเราจึงควรสั่งสมบุญ  โดยทำความดีเสียตั้งแต่วันนี้  จะ ได้ส่งผลให้มีสติปัญญาดี มีความเฉลียวฉลาด มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตต่อไปในอนาคต ดังเช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งได้ทรงทำความดี สร้างสมบารมีมามากนับภพนับชาติไม่ถ้วนในภพชาติสุดท้ายก็ทรงตั้งใจศึกษาเล่าเรียนตั้งแต่ยังเยาว์ เมื่อทรงออกผบวชก็ตั้งใจบำเพ็ญเพียรเจริญสมาธิภาวนาอย่างเติมที่ จึงสามารถตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เมื่อพระชนม์เพียง ๓๕ พรรษา

ผลของบุญ
            บุญเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มีผลกับตัวเรา ๔ ระดับ คือ
            ๑.        ระดับจิตใจ เป็นบุญที่เกิดผลทันที คือทำความดีปุ๊บก็เกิดปั๊บ ไม่ต้อง รอชาติหน้า  เกิดขึ้นเองในใจของเรา  ทำให้
            -           สุขภาพทางใจดีขึ้น คือมีใจเยือกเย็น ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวต่อคำ ยกยอหรือตำหนิติเตียน มีใจที่ปลอดโปรง เบาสบาย เป็นสุข
            -           สมรรถภาพของใจดีขึ้น คือเป็นใจที่สะอาดผ่องใส ใช้คิดเรื่องราวต่างๆ ได้รวดเร็ว ว่องไว ลึกซึ้ง กว้างไกล รอบคอบ เป็นระเบียบ  และตัดสิน ใจได้ฉับพลันถูกต้องไม่ลังเล
            ๒.        ระดับบุคลิกภาพ คนที่ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา อย่างสม่ำ-เสมอ จะทำให้มีใจที่สงบ แช่มชื่น เบิกบาน ชุ่มเย็น นอนหลับสบาย ไม่มีความกังวลหม่นหมอง หน้าตาผิวพรรณจึงผ่องใส ใจเปี่ยมไปด้วยบุญ ไม่คิดโลภอยากได้ของใคร ไม่คิดสร้างความเดือดร้อนให้ใคร มีแต่คิดช่วยเหลือเขา จึงมีความมั่นใจในตัวเอง มีความองอาจสง่างามอยู่ในตัว ไปถึงไหนก็สามารถวางตัว ได้พอเหมาะพอดี  บุคลิกภาพย่อมดีขึ้นเป็นลำดับ
            ๓.        ระดับวิถีชีวิต วิถีชีวิตของคนเรา เกิดจากการสรุปผลบุญและผลบาปที่เราได้ทำมาตั้งแต่ภพชาติก่อนๆ จนถึงภพชาติปัจจุบัน  เป็นผลของบุญระดับจิตใจและระดับบุคลิกภาพร่วมกัน ชักนำให้เราได้รับสิ่งที่น่าปรารถนา ตอบสนองมาจากภายนอก เช่น ได้รับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่การที่เราทำดี แล้ววิถีชีวิตของเราจะดีเต็มที่หรือไม่นั้น ยังขึ้นอยู่กับบุญเก่าหรือบาปในอดีตที่เราเคยทำไว้ด้วย  เรื่องการให้ผลบุญและบาป จึงเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน เช่นบางครั้งขณะที่เราตั้งใจทำความดีอยู่ แต่ผลบาปในอดีตตามมาทัน ทำให้ถูกใส่ร้ายป้ายสี หรือประสบเคราะห์กรรม บางคนเข้าใจผิด คิดว่าทำทำดีแล้วไม่ได้ดี ทำให้หมดกำลังใจในการทำความดี
            แท้จริงแล้ว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในขณะนั้น ผลบาปที่เราเคยทำในอดีตกำลังส่งผลอยู่ แต่บุญที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันย่อมไม่ไร้ผล เมื่อเราตั้งใจทำบุญ ไปโดยไม่ย่อท้อ และไม่ทำบาปนั้นอีก เคราะห์กรรมนั้นย่อมหมดสิ้นไป และได้รับผลของบุญคือความสุขความสำเร็จได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในที่สุด
            ๔.        ระดับสังคม เมื่อเราทำความดีมาแล้วอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะไปอยู่ สังคมใด บุญก็จะส่งผลให้เป็นบุคคลที่สังคมยอมรับนับถือ ได้เป็นผู้นำของสังคม นั้น และจะเป็นผู้ชักนำสมาชิกในสังคมให้ทำความดีตามอย่าง ทำให้เกิดความสงบร่มเย็น  และความเจริญก้าวหน้าขึ้นในสังคมนั้นๆ โดยลำดับ

ตัวอย่างผลของบุญ
            ผู้ที่มีอายุยืน                        เพราะในอดีตไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
            ผู้ที่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ             เพราะในอดีตไม่รังแกหรือทรมานสัตว์
            ผู้ที่มีพลานามัยสมบูรณ์       เพราะในอดีตให้ทานด้วยข้าวปลาอาหาร มามาก
            ผู้ที่มีผิวพรรณงาม                 เพราะในอดีตรักษาศีล และให้ทานด้วยเสื้อผ้า  เครื่องนุ่งห่มมามาก
            ผู้ที่มีอำนาจมีคนเกรงใจ       เพราะในอดีตมีมุทิตาจิต ใครทำความดีก็ อนุโมทนา ไม่อิฉาริษยาใคร
            ผู้ที่ร่ำรวยมีโภคทรัพย์มาก       เพราะในอดีตให้ทานมามาก
            ผู้ที่เกิดในตระกูลสูง                เพราะในอดีตบูชาบุคคลที่ควรบูชามามาก
            ผู้ที่ฉลาดมีสติปัญญาดี           เพราะในอดีตคบบัณฑิต ฝึกสมาธิเจริญ ภาวนา มามากและไม่ดื่มสุรายาเมา

วิธีทำบุญ
            การทำความดีทุกอย่างล้วนได้ผลออกมาเป็นบุญทั้งสิ้นแต่เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจและนำไปปฏิบัติ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแบ่งวิธีทำบุญออกเป็น  ๑๐  ประการ เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ได้แก่
            ๑.        ทาน     คือการบริจาคทรัพย์สิ่งของแก่ผู้ที่ควรให้
            ๒.        ศีล       คือการสำรวมกาย วาจา ให้สงบเรียบร้อย ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่น
            ๓.        ภาวนา คือการสวดมนต์ทำสมาธิ อ่านหนังสือธรรมะ ฯลฯ
            ๔.        อปจายนะ        คือการมีความเคารพอ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรม
            ๕.        เวยยาวัจจะ     คือการขวนขวายช่วยเหลือในกิจที่ชอบ
            ๖.        ปัตติทานะ       คือการอุทิศส่วนบุญแก่ผู้อื่น
            ๗.        ปัตตานุโมทนา คือการอนุโมทนาบุญที่ผู้อื่นทำ
            ๘.        ธัมมัสสวนะ     คือการฟังธรรม
            ๙.        ธัมมเทสนา      คือการแสดงธรรม
            ๑๐.      ทิฏฐุชุกัมม์       คือการปรับปรุงความเห็นของตนให้ถูกต้อง
            บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ นี้  สรุปลงได้เป็น บุญกิริยาวัตถุ ๓   ได้ดังนี้
            -           ทาน     ได้แก่   ทาน   ปัตติทานะ ปัตตานโมทนาเป็นการฆ่าความ ตระหนี่ออกจากใจ
            -           ศีล       ได้แก่     ศีล  อปจายนะ เวยยาวัจจะ   เป็นการป้องกันตนไม่ให้ทำชั่ว
            -           ภาวนา ได้แก่    ภาวนา ธัมมัสสวนะ   ธัมมเทสนา   เป็นการฝึกตัวเองให้ฉลาด มีสติปัญญาดี
        ส่วน ทิฏฐุชุกัมม์   นั้น สงเคราะห์เข้าได้ทั้งใน  ทาน ศีล และภาวนา
หมายเหตุอรรถกถาและฎีกาบางแห่ง จัดทิฏฐุชุกัมม์ไว้ในภาวนา ส่วนธัมมเทสนานั้นอาจจัดจัดไว้ในทานก็ได้ โดยถือเป็นธรรมทาน

บุญวาสนาไม่ใช่อภินิหาร
            บุญวาสนาไม่ใช่อภินิหาร แต่สามารถอธิบายด้วยหลักเหตุผลได้ดังนี้ คนที่จิตสั่งสมแต่บาปหรือความชั่ว  จะทำให้ใจมืดมัว  กิเลสต่างๆ เข้ายึดครอง ใจได้ง่าย ทำให้เกิดผลร้ายต่อตนเอง เช่น เวลาโกรธจัด ความโกรธเข้ายึดครองใจ ทำให้หัวใจเต้นแรงผิดปกติ ระบบสูบฉีดเลือดผันแปร โลหิตมีการเผาไหม้มาก เกิดอาการร้อนผ่าวตั้งแต่หน้าอกจรดใบหน้า ความร้อนจะทำให้ผิวหยาบกร้าน ไม่มีน้ำมีนวล อาหารไม่ย่อย ท้องอืด เกิดความเครียดคนโกรธง่าย     จึงเป็นคนเจ้าทุกข์ หงุดหงิด พูดจาห้วนแบบมะนาวไม่มีน้ำ เวลาโกรธจะขาดสติ คิดอ่านการใดก็ผิดพลาดได้ง่าย
            ส่วนคนที่จิตสั่งสมแต่บุญหรือความดี จะทำให้ใจผ่องใสอยู่เป็นปกติ กิเลสต่างๆ เข้ายึดครองใจได้ยาก  เพราะมีสติคอยควบคุมใจไว้  สามารถสอนตนเองและตักเตือนตนเองไม่ให้ทำความชั่วได้ จึงมีจิตใจที่สงบเยือกเย็น สดชื่น ผ่องใส ระบบการทำงานของร่างกายก็เป็นปกติ มีผิวพรรณงาม เสียงไพเราะ      กิริยาน่ารัก  คิดอ่านการใดก็แจ่มใส  ส่งผลให้มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตได้ง่าย

ข้อเตือนใจ
            เมื่อทราบว่าการทำบุญเป็นการสั่งสมความดีไว้เพื่อตนเองแล้ว เราจึงไม่ควรประมาทในการทำบุญ ควรทำบุญเท่าที่กำลังความสามารถจะอำนวย ผู้ที่ได้สั่งสมบุญมาดีแล้วแต่เพิกเฉยในการทำบุญเพิ่ม เปรียบเสมือนชาวนาที่เก็บเกี่ยวผลิตผลแล้วแจกจ่ายขายกินหมด ไม่เหลือไว้ทำพันธุ์ต่อไปภายหน้าเลย เขาย่อมเดือดร้อนในฤดูกาลทำนาครั้งต่อไป
            ความดีทุกอย่างที่เราทำไว้ แม้จะไม่ให้ผลในปัจจุบันทันตาก็ไม่สูญเปล่า ความดีเหล่านั้นจะรวมกันเข้าปรุงแต่งจิตใจให้ดีขึ้น  สิ่งนี้แหละคือ บุญวาสนา
            เราจึงควรเร่งสร้างความดีเสียแต่บัดนี้ โดยหมั่นศึกษาวิชาการ ฝึกฝนตนเองทั้งทางด้านการปรับปรุงคำพูด ความขยันขันแข็ง ทำการงานให้ดีขึ้น และพยายามฝึกใจให้ผ่องใส ด้วยการหมั่นทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาอย่างสม่ำเสมอ  คนเช่นนี้จึงเป็นคนมีบุญวาสนาที่แท้จริง

หลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
            เราต้องเร่งสร้างบุญใหม่ตั้งแต่บัดนี้ จะได้เป็นบุญเก่าติดตัวไปในวัน  หน้า โดยยึดหลักว่า
            ๑.        เช้าใดยังไม่ได้ทำทาน  เช้านั้นอย่าเพิ่งทานข้าว
            ๒.        วันใดยังไม่ได้ตั้งใจรักษาศีล  วันนั้นอย่าเพิ่งออกจากบ้าน
            ๓.        คืนใดยังไม่ได้สวดมนต์เจริญสมาธิภาวนา  คืนนั้นอย่าเพิ่งนอน
            เราต้องอดทนฝึกตนให้สร้างความดีเรื่อยไป แม้จะต้องกระทบกระทั่ง            กับสิ่งใด มีอุปสรรคมากเพียงไหนก็ปักใจมั่นไม่ย่อท้อ กัดฟันสู้ทำความดีเรื่อยไป

“น้ำหยดทีละหยด ยังสามารถเต็มตุ่มได้ฉันใด บัณฑิตหมั่นสั่งสมบุญทีละน้อย ย่อมเต็มเปี่ยมด้วยบุญฉันนั้น”

ขุ. ธ. ๒๕/๑๙/๓๑

อานิสงส์การมีบุญวาสนามาก่อน
            ๑.        ทำให้มีปัจจัยต่างๆ พร้อม  สามารถทำความดีใหม่ได้โดยง่าย
            ๒.        อำนวยประโยชน์ทุกอย่างดังได้กล่าวมาแล้ว
            ๓.        เป็นต้นเหตุแห่งความสุขทุกประการ
            ๔.        เป็นเสบียงติดตัวทั้งภพนี้ภพหน้า  จนกว่าจะบรรลุมรรคผลนิพพาน
ฯลฯ

วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2556

254: สมเด็จพระสังฆราชยุครัตนโกสินทร์

สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
สมเด็จพระสังฆราช (ศุข)
สมเด็จพระสังฆราช (มี)
สมเด็จพระสังฆราช (สุก)
สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
สมเด็จพระสังฆราช (นาค)
กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
สมเด็จพระสังฆราช (สา)
กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
สมเด็จพระสังฆราช (แพ)
กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
สมเด็จพระสังฆราช (ปลด)
สมเด็จพระสังฆราช (อยู่)
สมเด็จพระสังฆราช (จวน)
สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น)
สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์)
สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ)

253: ประวัติพระปิณโฑลภารทวาชะเถระ

ประวัติพระปิณโฑลภารทวาชะเถระ
เอตทัคคมหาสาวกผู้บันลือสีหนาท

การที่ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ ท่านนี้ได้รับการสถาปนาจากพระบรมศาสดาให้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลายผู้บันลือสีหนาท นั้นก็โดยเหตุเกิดเรื่อง คือ พระมหาสาวกองค์นั้น ในวันที่ท่านบรรลุพระอรหัต ท่านก็บันลือสีหนาทว่า ท่านผู้ใด มีความสงสัย ในมรรคหรือผล ท่านผู้นั้นจงถามเราดังนี้ แม้ต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้า ท่านก็บันลือสีหนาทว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กิจที่ควรกระทำในศาสนานี้ถึงที่สุดแล้ว เช่นนี้ ซึ่งก็เป็นปัจจัยมาจากการที่ท่านได้กระทำบันลือสีหนาทในสมัยอดีตชาติ ดังเรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้

บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า

แม้พระเถระนี้ก็ได้กระทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆก่อสร้างบุญทั้งหลายอันเป็นอุปนิสัยแก่วิวัฏฏะไว้ในภพนั้น ๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ บังเกิดเป็นราชสีห์ผู้ไม่มีความกลัว อาศัยอยู่ในถ้ำ ที่ใกล้ภูเขาหิมวันต์ทางทิศตะวันออกของภูเขาหิมาลัย ออกหากินไปในทิศทั้ง ๔ อยู่ ณ ที่นั้น พระศาสดาประทับอยู่ในถ้ำชื่อว่าจิตตกูฏ ที่ยอดเขาชื่อว่าจิตตบรรพต เพราะเป็นภูเขาที่งดงามหลากสีด้วยโอสถ และรัตนะทั้งหลาย พระศาสดาทรงตรวจดูโลก ทรงเห็นความถึงพร้อมแห่งเหตุที่สมควรจะเสด็จไปโปรดของราชสีห์นั้น

ในครั้งนั้น เพื่อจะทรงกระทำความอนุเคราะห์แก่ราชสีห์ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเสด็จไปยังถ้ำเป็นที่อยู่ของราชสีห์นั้น ในเวลาที่ราชสีห์นั้นออกไปหาเหยื่อ ทรงนั่งเข้านิโรธสมาบัติอยู่ ราชสีห์จับเหยื่อแล้วกลับมายืนอยู่ที่ประตูถ้ำ เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ดำริว่า ไม่มีสัตว์อื่นที่ว่าชื่อว่าสามารถจะมานั่งยังที่อยู่ของเรา บุรุษนี้ใหญ่แท้หนอ มานั่งขัดสมาธิภายในถ้ำได้ แม้รัศมีสรีระของท่านก็แผ่ไปโดยรอบ เราไม่เคยเห็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ถึงเพียงนี้ บุรุษนี้จักเป็นยอดของปูชนียบุคคลในโลกนี้ แม้เราควรกระทำสักการะตามสติกำลังถวายพระองค์ จึงไปนำดอกอุบลและดอกไม้ต่าง ๆ ลาดเป็นอาสนะดอกไม้ ตั้งแต่พื้นจนถึงที่นั่งขัดสมาธิ กระทำจิตให้เลื่อมใส และเพื่อต้องการจะอารักขาพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงบันลือสีหนาท ๓ เวลา เพื่อให้สัตว์ร้ายอื่น ๆ หนีไป ยืนเฝ้าอยู่ที่ประตูถ้ำโดยมีพุทธานุสติเป็นอารมณ์ ตลอดคืนยังรุ่ง รุ่งขึ้นวันใหม่ก็นำดอกไม้เก่าออก เอาดอกไม้ใหม่ลาดอาสนะโดยทำนองนี้ เที่ยวตกแต่งปุบผาสนะบูชาอยู่ตลอด ๗ วัน เหมือนอย่างที่บูชาในวันแรก บังเกิดปีติโสมนัสอย่างแรง ในวันที่ ๗ พระ ศาสดาออกจากนิโรธสมาบัติ ประทับยืนที่ประตูถ้ำ ราชสีห์กระทำประทักษิณพระตถาคต ๓ ครั้ง แล้วถอยออกไปยืนอยู่

พระปทุมุตรพุทธเจ้าผู้ทรงรู้แจ้งโลก ทรงรับเครื่องบูชาของเรา แล้วตรัสว่า ผู้ใดได้ถวายปทุมนี้ และได้บันลือสีหนาท เราจักพยากรณ์ผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว

ในกัลปที่ ๘ แต่ภัทรกัลปนี้ ผู้นั้นจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิสมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔ จักเสวยความเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ๖๔ ชาติ จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิทรงกำลัง มีพระนามชื่อว่าปทุม

ในแสนกัลป พระศาสดาพระนามว่าโคดมโดยพระโคตร ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติในโลกเมื่อพระศาสดาพระองค์นั้นทรงประกาศพระศาสนาแล้ว พระยาสีหะนี้จักเป็นบุตรของพราหมณ์ จักออกจากสกุลพราหมณ์แล้วบวชในพระศาสนาของพระศาสดาพระองค์นั้น เขามีตนส่งไปแล้วเพื่อความเพียร สงบระงับไม่มีอุปธิ กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว จักไม่มีอาสวะนิพพาน ณ เสนาสนะอันสงัด ปราศจากชน เกลื่อนกล่นด้วยสัตว์ร้าย

พระศาสดาทรงดำริว่า เท่านี้จักพอเป็นอุปนิสัยแก่ราชสีห์นี้ แล้วจึงเหาะขึ้นไปสู่อากาศเสด็จกลับไปพระวิหารตามเดิม

ราชสีห์ไม่อาจอดกลั้นความทุกข์ เพราะพลัดพรากจากพระพุทธเจ้าจึงกระทำกาละแล้วบังเกิดในตระกูลมีโภคะมากในนครหังสวดี พอเจริญวัยแล้ว ได้ไปยังพระวิหารกับชาวเมือง ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วเลื่อมใส ยังมหาทานให้เป็นไปแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ตลอด ๗ วัน ทำบุญทั้งหลายจนชั่วชีวิต ท่องเที่ยวไป ๆ มา ๆอยู่ในเทวดาและและมนุษย์

กำเนิดเป็นภารทวาชะในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย ท่านเกิดเป็นบุตรของปุโรหิตแห่งพระเจ้าอุเทน ในพระนครโกสัมพี เขาได้มีชื่อว่า ภารทวาชะ ภารทวาชะนั้นเจริญวัยแล้ว เรียนจบไตรเพทสอนมนต์แก่มาณพ ๕๐๐ คนเพราะความที่ตนเป็นผู้มีความประพฤติไม่เหมาะสม เพราะเป็นคนจะกละ เป็นผู้กินจุ ท่านรับภิกษาของมาณพทุกคนด้วยตนเอง เขาว่าท่านภารทวาชะนี้เป็นคนมักมากในการบริโภค คือเที่ยวแสวงหาข้าวต้มข้าวสวยและของรับประทานไม่ว่าในที่ไหน ๆ กับมาณพเหล่านี้ ในที่ที่ท่านไปแล้วไปอีกก็จะต้อนรับเพียงข้าวถ้วยเดียวเท่านั้น พวกมาณพที่เป็นศิษย์เห็นความประพฤติอันไม่น่าเลื่อมใสของผู้เป็นอาจารย์ก็บังเกิดความเบื่อหน่าย พากันละทิ้งออกไปจากสำนัก เมื่อถูกเหล่ามาณพนั้นละทิ้ง ท่านจึงเป็นผู้สิ้นเนื้อประดาตัว ไม่เห็นทางที่จะทำมาหากินจึงเดินทางไปยังนครราชคฤห์ ครั้นไปถึงเมืองนั้นแล้ว ได้เห็นว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ ได้ลาภสักการะ เป็นอันมาก ภัตตาหารก็อุดมสมบูรณ์ จึงบวชในพระศาสนาด้วยความประสงค์จะได้อาหาร และก็ยังเป็นผู้ไม่รู้ประมาณในการบริโภคอยู่

เมื่อท่านบวชแล้ว ท่านถือเอาบาตรขนาดใหญ่เที่ยวบิณฑบาตไป ในการรับภัตท่านก็รับภัตเอาจนเต็ม ท่านดื่มข้าวยาคูเต็มภาชนะ เคี้ยวกินขนมเต็มภาชนะ บริโภคข้าวเต็มภาชนะ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลความที่ท่านไม่ประมาณในการบริโภค ฉันอาหารมากเกินพอดีต่อพระศาสดา พระศาสดาจึงทรงไม่อนุญาตถลกบาตรแก่ท่าน เพื่อมิให้ท่านสามารถรับภัตได้ครั้งละมาก ๆท่านนั้นเมื่อฉันภัตเสร็จ ล้างบาตรแล้ว เมื่อจะวาง ท่านก็คว่ำบาตรวางลงแล้วดันครูดส่ง ๆ ไปไว้ใต้เตียง ในตอนที่จะใช้บาตรนั้น ก็จะถือเอาก็ครูดลากเอาบาตรนั้นออกมา บาตรนั้นเมื่อเวลานานเข้า ขอบปากบาตรก็กร่อนไปเรื่อย ๆ ด้วยการถูกครูด จนกระทั่งเหลือเป็นเหมือนแผ่นกระเบื้อง รับภัตได้เพียงข้าวสุกทะนานเดียวเท่านั้น ภิกษุทั้งหลายเห็นดังนั้น จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระศาสดา พระศาสดาทรงอนุญาตถลกบาตรแก่ท่านอีก ดังนั้น ท่านจึงชื่อ ปิณโฑละ เพราะบวชเพื่อต้องการภัต (ก้อนข้าว) แต่โดยโคตร ชื่อว่า ภารทวาชะ เหตุนั้น รวมชื่อทั้งสองเข้าด้วยกันจึงเรียกว่า ปิณโฑลภารทวาชะดังนี้

ต่อมาท่านได้ฟังธรรมจากพระบรมศาสดา พระศาสดาทรงอบรมท่านให้ตั้งอยู่ในความเป็นผู้รู้จักประมาณด้วยอุบายวิธี แต่นั้นท่านจึงเริ่มบำเพ็ญความเพียร ตั้งอารมณ์วิปัสสนา ไม่นานนักก็บรรลุพระอรหัต ได้อภิญญา ๖ ในวันบรรลุพระอรหัต ท่านถือเอาผ้ารองนั่งออกจากวิหารนี้ไปวิหารโน้น ออกจากบริเวณ นี้ไปบริเวณโน้น เที่ยวบันลือสีหนาทว่า ท่านผู้ใด มีความสงสัย ในมรรคหรือผล ท่านผู้นั้นจงถามเราดังนี้

หลังจากที่ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ บรรลุพระอรหัตแล้ว ท่านก็ได้สมาทานธุดงค์ เป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือทรงไตรจีวรเป็นวัตร มีความปรารถนาน้อย สันโดษ ชอบสงัดไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ปรารภความเพียร ผู้มีวาทะกำจัด หมั่นประกอบในอธิจิต พระผู้มีพระภาคทรงเห็นท่านพระปิณโฑลภารัทวาชะ ได้ถือปฏิบัติเช่นนั้นแล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

การไม่ว่าร้ายกัน ๑ การไม่เบียดเบียนกัน ๑ การสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในภัต ๑ ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑ การประกอบความเพียรในอธิจิต ๑
นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ฯ

พระเถระแสดงฤทธิ์

เมื่อครั้งเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ ได้ปุ่มไม้จันทร์แดงซึ่งมีค่ามากมาปุ่มหนึ่ง จึงได้ให้กลึงเป็นบาตรไม้ นำไปแขวนไว้บนปลายไม้สูงประมาณ ๖๐ ศอก แล้วประกาศว่า ถ้าผู้ใดเป็นพระอรหันต์ก็จงเหาะมาเอาบาตรไม้นี้ไปเถิด นิครณฐนาฏบุตรผู้เป็นเดียรถีย์ กับเหล่าสาวกได้พยายามด้วยเล่ห์อุบายต่าง ๆ เป็นเวลาถึง ๗ วัน เพื่อเอาบาตรไม้จันทร์แดงนั้นมาครอบครองแต่ก็ไม่สำเร็จ

ในวันที่ ๗ ท่านพระมหาโมคคัลลานะและท่านพระปิณโฑล ภารทวาชะได้ไปยังกรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาต ได้ยินพวกชาวเมืองคุยกันในเรื่องที่เศรษฐีประกาศ ให้พระอรหันต์เหาะมาเอาบาตรไม้จันทร์แดงนั้นไป ก็บัดนี้ล่วงเข้าไปวันที่ ๗ แล้ว ก็ไม่เห็นมีผู้ใดมาเอาบาตรนั้นไปได้ เห็นทีพระอรหันต์นั้นคงจะไม่มีในโลกแล้วเป็นแน่แท้

ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ยินถ้อยคำนั้นแล้ว จึงกล่าวกะท่านพระปิณโฑลภารทวาชะว่า พวกชนเหล่านี้ พูดเป็นทีว่าจะย่ำยีพระพุทธศาสนา ท่านจงไปเถิด จงเหาะไปในอากาศ แล้วถือเอาบาตรนั้น

ปิณโฑลภารทวาชะกล่าวว่า ท่านโมคคัลลานะ ท่านเป็นผู้เลิศกว่าบรรดาสาวกผู้มีฤทธิ์ ท่านจงถือเอาบาตรนั้น แต่เมื่อท่านไม่ถือเอา ผมจักถือเอา

พระปิณโฑลภารทวาชะแสดงปาฏิหาริย์

เมื่อพระมหาโมคคัลลานะกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านจงถือเอาเถิด ” ท่านปิณโฑลภารทวาชะก็เข้าจตุตถฌาน มีอภิญญาเป็นบาท ถอยออกจากฌานแล้ว เอาปลายเท้าคีบหินดาดประมาณ ๑ คาวุต ให้ขึ้นไปในอากาศเหมือนปุยนุ่น แล้วเหาะเวียนไปในเบื้องบนพระนครราชคฤห์ ๗ รอบ แผ่นหินดาดนั้นก็ปรากฏเหมือนดังเป็นฝาปิดพระนครไว้ พวกชาวพระนครเห็นดังนั้นก็เกิดความกลัว ร้องว่า “หินจะตกทับข้าพเจ้าแล้ว ” แล้วพากันหาที่หลบซ่อน หรือหาวัตถุต่าง ๆ เช่น กระด้ง เป็นต้นมาปิดศีรษะไว้ ครั้นเมื่อครบ ๗ รอบแล้ว พระ เถระจึงได้แสดงตนให้มหาชนได้เห็น

มหาชนเห็นพระเถระแล้ว กล่าวว่า “ท่านปิณโฑลภารทวาชะผู้ เจริญ ท่านจงจับหินของท่านไว้ให้มั่น อย่าให้พวกข้าพเจ้าทั้งหมด เป็นอันตรายเลย ”

ท่านพระเถระจึงเหวี่ยงแผ่นหินทิ้งไป แผ่นหินนั้นก็กลับไปตั้งอยู่ในที่เดิมนั่นเอง แล้วพระเถระก็ได้เหาะไปยืนอยู่เหนือเรือนของเศรษฐี เศรษฐีนั้นเห็นท่านแล้ว หมอบลงแล้ว กราบเรียนว่า “ลงเถิด พระผู้เป็นเจ้า ” นิมนต์พระเถระให้นั่งแล้ว ให้นำบาตรลงถวายแก่พระเถระ พระเถระรับบาตรแล้ว ก็กลับสู่วิหาร

พวกชนหมู่อื่นที่อยู่ในป่าบ้าง อยู่ในบ้านบ้าง ไม่ได้เห็นปาฏิหาริย์ของพระเถระ ก็รวมกันมาวิงวอนพระเถระว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงแสดงปาฏิหาริย์ให้พวกพวกผมได้ชมบ้าง ” พระเถระนั้นก็แสดงปาฏิหาริย์แก่ชนเหล่านั้นๆ ในระหว่างทางไปพระวิหาร

พระศาสดาทรงห้ามไม่ให้ภิกษุทำปาฏิหาริย์

พระศาสดาทรงสดับเสียงมหาชนที่ติดตามพระเถระนั้นอื้ออึงอยู่ จึงตรัสถามว่า “อานนท์ นั่นเสียงใคร ?”

ท่านพระอานนท์ทูลว่า “พระเจ้าข้า พระปิณโฑลภารทวาชะเหาะขึ้นไปในอากาศแล้ว ถือเอาบาตรไม้จันทร์ เสียงนั่นมาจากสำนักของท่าน”

จึงรับสั่งให้เรียกพระปิณโฑลภารทวาชะมา ตรัสถามว่า “ได้ยินว่า เธอทำอย่างนั้นจริงหรือ ?”

เมื่อท่านกราบทูลว่า “จริง พระเจ้าข้า”

จึงตรัสว่า “ภารทวาชะ ทำไม เธอจึงทำอย่างนั้น ?”

ทรงติเตียนพระเถระ แล้วรับสั่งให้ทำลายบาตรนั้น ให้เป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ แล้ว รับสั่งให้ประทานแก่ภิกษุทั้งหลาย เพื่อบดผสมยาตา แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ควรแสดงอุตตริมนุสสธรรมอันเป็น อิทธิปาฏิหาริย์แก่พวกคฤหัสถ์ทั้งหลาย ผู้ใดขืนแสดงต้องอาบัติ ทุกกฎ ” ดังนี้

ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ

ได้ยินมาว่า ในวันที่ท่านพระ บิณโฑลภารทวาชเถระบรรลุพระอรหัต ท่านถือเอาผ้ารองนั่งออกจากวิหารนี้ไปวิหารโน้น ออกจากบริเวณ นี้ไปบริเวณโน้น เที่ยวบันลือสีหนาทว่า ท่านผู้ใด มีความสงสัย ในมรรคหรือผล ท่านผู้นั้นจงถามเราดังนี้ แม้ต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้า ท่านก็บันลือสีหนาทว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กิจที่ควรกระทำในศาสนานี้ถึงที่สุดแล้ว

เมื่อครั้งที่เศรษฐีในกรุงราชคฤห์เอาไม้ไผ่ต่อ ๆ กันขึ้นไป แขวนบาตรไม้แก่นจันทร์แดงไว้ปลายยอดไม้ไผ่นั้น ท่านเหาะไปถือเอาบาตรนั้นด้วยฤทธิ์ เป็นเหตุให้พระศาสดาทรงตำหนิโดยปริยายเป็นอันมาก แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุแสดงอุตตริมนุสสธรรมแก่พวกคฤหัสถ์ ตามเรื่องที่กล่าวไว้ตอนต้น

ในครั้งนั้นก็เกิดพูดกันในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ว่า พระเถระ ที่บันลือสีหนาทในวันที่ตนบรรลุพระอรหัต ประกาศท่ามกลางภิกษุสงฆ์ว่า ผู้ใดมีความสงสัยในมรรคหรือผล ผู้นั้นจงถามเรา ดังนี้

หรือแม้ ในที่ต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้า โดยความที่ตนชอบนั่นเอง ก็บันลือสีหนาทถึงการบรรลุพระอรหัตของตน พระสาวกเหล่าอื่นก็นิ่ง

หรือแม้จะทำมหาชนให้เกิดความเลื่อมใสเหาะไปรับบาตรไม้แก่นจันทร์ ที่แขวนไว้ปลายยอดไม้ไผ่

ภิกษุเหล่านั้นกระทำเรื่องทั้ง ๓ เหล่านี้เป็นอันเดียวกัน กราบทูล แก่พระศาสดาแล้ว

ก็ธรรมดาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรง ติเตียนผู้ที่ควรติเตียน ย่อมทรงสรรเสริญ ผู้ที่ควรสรรเสริญ ใน ฐานะนี้ พระศาสดาทรงถือว่า ความเป็นยอดของพระเถระที่สมควรสรรเสริญนั้นแหละ แล้วสรรเสริญพระเถระว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอินทรีย์ ๓ นั่นแล เธอเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ภารทวาชภิกษุได้พยากรณ์พระอรหัตแลว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์เราอยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำเราทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ อินทรีย์ ๓ เป็นไฉน คือ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอินทรีย์ ๓ เหล่านี้แล เธอเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ภารทวาชภิกษุ พยากรณ์แล้วซึ่งพระอรหัตตผล ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์เราอยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ ดังนี้ จึงทรงสถาปนา ไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุบันลือสีหนาท

พระเถระโปรดพราหมณ์ผู้เป็นสหาย

วันหนึ่ง พราหมณ์ที่เคยเป็นสหายกันในสมัยเมื่อเป็นคฤหัสถ์ ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความตระหนี่ เข้าไปหาท่านถึงสำนัก ท่านเมื่อจะอนุเคราะห์พราหมณ์ผู้เป็นสหายนั้น จึงกล่าวธรรมเทศนาพรรณนาอานิสงส์ของทานแก่พราหมณ์นั้น พราหมณ์นั้นเมื่อได้ฟังก็ขมวดคิ้วนิ่วหน้า คิดในใจว่า พระเถระนี้จะทำให้ทรัพย์ของเราพินาศไปเพราะการแจกทานเสียแล้ว จึงกล่าวว่า เราจะถวายภัตรมื้อหนึ่งแก่ท่าน พระเถระได้ยินดังนั้นจึงกล่าวว่า ท่านจงถวายภัตรมื้อหนึ่งนั้นแก่สงฆ์ อย่าถวายเราเลย แล้วให้พราหมณ์น้อมนำภัตรนั้นไปถวายสงฆ์ เมื่อพราหมณ์แสดงความไม่พอใจอีกด้วยคิดว่า พระเถระนี้ประสงค์จะให้เราถวายทานแก่ภิกษุจำนวนมาก

พระเถระจึงยังพราหมณ์ให้เลื่อมใส ด้วยการประกาศถึงความที่แห่งทักษิณาทานที่ถวายในสงฆ์ โดยพระธรรมเสนาบดีในวันที่สองว่ามีผลมาก คิดว่าพราหมณ์นี้ สำคัญว่าพระเถระนี้ชักชวน ให้เราถวายทานด้วยความอยากในอาหาร เขาไม่รู้ความที่เราควบคุม (กำหนดรู้) อาหารได้แล้วโดยประการทั้งปวง เอาเถิด เราจะทำให้เขารู้ ดังนี้ จึงได้กล่าว คาถา ๒ คาถา ความว่า

ชีวิตของเรานี้ ย่อมไม่เป็นไปโดยไม่สมควร
อาหารไม่ได้ทำจิตให้สงบ เราเห็นว่าร่างกายจะดำรงอยู่ได้เพราะอาหาร จึงได้เที่ยวแสวงหาโดยทางที่ชอบ
นักปราชญ์มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ได้กล่าว การไหว้ การบูชา ในตระกูลทั้งหลายว่า เป็นเปือกตม
เป็นลูกศรอันละเอียด ถอนขึ้นได้ยาก สักการะอันบุรุษชั่วละได้ยาก ดังนี้

พราหมณ์ฟังคำเป็นคาถานั้นแล้ว ได้เป็นผู้มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง ในพระเถระ

พระเถระโดนพระเจ้าอุเทนกริ้ว

มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี ท่านปิณโฑลภารทวาชะ ได้ไปยังพระราชอุทยานของพระเจ้าอุเทน ชื่ออาวัฏฏกะใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคาในกรุงโกสัมพี ซึ่งเป็นที่ที่ท่านเข้าไปพักผ่อนอยู่เสมอ ๆ ท่านนั้นนั่งพักกลางวัน ดื่มด่ำกับสมาบัติ ณ โคนต้นไม้ร่มเย็นใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคานั้น

ในวันนั้นพระเจ้าอุเทนเสด็จไปประพาสพระราชอุทยาน ทรงเพลิดเพลินอยู่ในพระราชอุทยาน ด้วยการฟ้อนรำขับร้องเป็นต้นตลอดวัน ทรงมึนเมาเพราะดื่มจัด บรรเทาเอาเศียรหนุนบนตักของหญิงคนหนึ่ง บรรดาหญิงนอกนั้นคิดว่าพระราชาบรรทมหลับแล้ว จึงพากันลุกไปเก็บดอกไม้และผลไม้เป็นต้นในพระราชอุทยาน

ครั้นเห็นพระเถระแล้วจึงห้ามกันเองว่าอย่างส่งเสียงดัง แล้วค่อย ๆ พากันเข้าไปไหว้แล้วนั่งห้อมล้อมพระเถระ พระเถระออกจากสมาบัติ แสดงธรรมแก่หญิงเหล่านั้น หญิงเหล่านั้นต่างชื่นใจตั้งใจฟังแล้วกล่าวว่า สาธุ สาธุ ดังนี้ หญิงคนที่นั่งเอาเศียรของพระราพาดตักคิดว่า แม่พวกเหล่านี้ทิ้งเราไปสนุกกัน เกิดริษยาในหญิงพวกนั้นจึงขยับขาให้พระราชาทรงตื่น พระราชาครั้นทรงตื่นบรรทมไม่เห็นนางสนม รับสั่งถามว่า พวกหญิงเหล่านี้หายไปไหน หญิงนั้นทูลว่า หญิงเหล่านั้นไปนั่งล้อมพระสมณะองค์หนึ่ง

พระราชานั้นทรงพิโรธได้เสด็จมุ่งหน้าไปหาพระเถระ หญิงเหล่านั้นเห็นพระราชาบางพวกก็ลุกขึ้น บางพวกก็ไม่ลุกโดยทูลว่า ข้าแต่มหาราช พวกหม่อมฉันฟังธรรมในสำนักของนักบวช เมื่อหญิงเหล่านั้นทูลอย่างนั้น พระราชาทรงพิโรธหนักขึ้น ด้วยความเมา พระราชาไม่ทรงไหว้พระเถระเลย ตรัสถามว่า ท่านมาเพื่ออะไร พระเถระถวายพระพรว่า เพื่อความวิเวก มหาบพิตร พระราชาตรัสว่าท่านมาเพื่อความวิเวก นั่งให้พวกนางสนมของเราแวดล้อมอยู่อย่างนี้แหละหรือ แล้วตรัสต่อไปว่า ท่านจงบอกวิเวกของท่านดูทีหรือ พระเถระแม้ชำนาญในการกล่าวถึงวิเวก แต่ก็ได้นิ่งเสียด้วยคิดว่า พระราชานี้ตรัสถามเพราะประสงค์จะรู้ก็หาไม่

พระราชาตรัสว่า หากท่านไม่บอก เราจะให้มดแดงกัดท่าน แล้วทรงเด็ดรังมดแดงที่ต้นอโศกต้นหนึ่ง เพราะความเมา จึงทำให้รังมดแดงรังหนึ่งแตก ตัวมดแดงกระจายตกเรี่ยรายลงบนพระกายของพระองค์ ทรงปัดมดแดงออกจากพระกายแล้วเด็ดรังอื่นมุ่งหน้าไปหาพระเถระ พระเถระคิดว่า หากพระราชานี้ทำเช่นนั้นเราก็จะพึงไปอบาย จึงอนุเคราะห์พระราชาจึงเหาะขึ้นสู่อากาศด้วยฤทธิ์ไปแล้ว หญิงทั้งหลายเหล่านั้นทูลว่า ข้าแต่พระทูลกระหม่อม พระราชาเหล่าอื่นเห็นบรรพชิตแล้วก็พากันบูชาด้วยดอกไม้และของหอมเป็นต้น พระองค์สิกลับไม่พอพระทัยโดยจะเอารังมดแดงไปบูชา ตระกูลวงศ์จะถึงความพินาศนะเพคะ

พระราชาทรงสำนึกโทษของพระองค์ จึงทรงนิ่ง ตรัสถามคนรักษาพระราชอุทยานว่า ในวันอื่นพระเถระยังจะมาในอุทยานนี้อีกไหม คนรักษาพระราชอุทยานทูลว่ามาพระเจ้าข้า พระราชาตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นเจ้าจงบอกในเวลาที่พระเถระมา

ก็ในวันที่พระเถระถูกพระราชไม่ทรงพอพระทัยโดยเอารังมดแดงมาบูชา พระเถระเหาะไปทางอากาศแล้วดำลงไปในดินโผล่ขึ้น ณ พระคันธกุฎีของพระผู้มีพระภาคเจ้า ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้า มีพระสติสัมปชัญญะ สำเร็จสีหไสยาโดยพระปรัศว์เบื้องขวา ทอดพระเนตรเห็นพระเถระแล้วตรัสถามว่าดูก่อนภารทวาชะ เธอมาในเวลามิใช่กาลหรือ พระเถระกราบทูลว่า ถูกแล้วพระเจ้าข้า แล้วจึงกราบทูลเรื่องราวนั้นทั้งหมดให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับดังนั้นแล้วจึงตรัสว่า การพูดถึงเรื่องวิเวกแก่พระราชาผู้ยังต้องการกามคุณ จักมีประโยชน์อะไรดังนี้ ทรงบรรทมด้วยพระปรัศน์เบื้องขวานั่นแหละ

อีก ๒ - ๓ วันต่อมา พระเถระก็มานั่งพักกลางวันที่โคนไม้อีก คนเฝ้าพระราชอุทยานเห็นเข้า จึงรีบไปกราบทูลพระราชา พระราชาเสด็จไปยังพระราชอุทยาน พร้อมด้วยอำมาตย์

พระเถระโปรดพระเจ้าอุเทน

ครั้งนั้นแล พระเจ้าอุเทนได้ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ตรัสถามท่านพระบิณโฑลภารทวาชะว่า

ท่านภารทวาชะผู้เจริญเหตุปัจจัยอะไรหนอแล เป็นเครื่องให้ภิกษุทั้งหลาย ผู้ยังเป็นหนุ่ม ยังไม่หมดความปรารถนาในกามทั้งหลาย สามารถประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน
ท่านพระเถระทูลตอบว่า ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ตรัสไว้ดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมาตั้งจิตว่า หญิงทั้งหลายที่มีอายุคราวมารดา เป็นเสมือนมารดาของตน ตั้งจิตว่า หญิงที่มีอายุคราวพี่สาวน้องสาว เป็นเสมือนพี่สาวน้องสาว ของตน ตั้งจิตว่า หญิงที่มีอายุคราวธิดา เป็นเสมือนธิดาของตน ขอถวายพระพร

ข้อนี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุผู้ยังเป็นหนุ่ม ยังไม่หมดความปรารถนาในกามทั้งหลาย สามารถประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน
พระเจ้าอุเทนกล่าวว่า ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ธรรมชาติของจิตนั้นบางคราวก็โลเล บางครั้งนั้น ความปรารถนาลามกนั้น อาจเกิดขึ้นในเหล่าสตรีปูนมารดาก็มี ปูนพี่สาวน้องสาวก็มี ปูนธิดาก็มี

มีธรรมข้ออื่นไหมหนอ ที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ผู้ยังเป็นหนุ่ม ยังไม่หมดความปรารถนาในกามทั้งหลาย สามารถประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน
ท่านพระเถระทูลตอบว่า ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้ดังนี้ว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมาพิจารณากายนี้แหละ เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา อันมีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูกม้าม หัวใจ ตับ พังผืดไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือดเหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ น้ำมูตร ดังนี้ ขอถวายพระพร

แม้ข้อนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ผู้ยังเป็นหนุ่ม ยังไม่หมดความปรารถนาในกามทั้งหลาย สามารถประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน
พระเจ้าอุเทนกล่าวว่า ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้มีกายอันอบรมแล้ว เป็นผู้มีศีลอันอบรมแล้ว เป็นผู้มีจิตอันอบรมแล้ว เป็นผู้มีปัญญาอันอบรมแล้ว การอบรมกายเป็นต้นนั้น ไม่เป็นกิจที่ภิกษุเหล่านั้นทำได้โดยยาก

ส่วนภิกษุเหล่าใดเป็นผู้มีกายยังไม่ได้อบรมแล้ว เป็นผู้มีศีลยังไม่ได้อบรมแล้ว เป็นผู้มีจิตยังไม่ได้อบรมแล้ว เป็นผู้มีปัญญายังไม่ได้อบรมแล้ว การอบรมกายเป็นต้นนั้นเป็นกิจที่ภิกษุเหล่านั้นทำได้โดยยาก

ท่านภารทวาชะผู้เจริญ บางคราวเมื่อบุคคลตั้งใจอยู่ว่า เราจักทำไว้ในใจโดยความเป็นของไม่งาม แต่อารมณ์ย่อมมาโดยความเป็นของงามก็มี มีไหมหนอแล
ท่านพระเถระทูลตอบว่า ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้ดังนี้ว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมาเถิด เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่เถิด เธอทั้งหลายเห็นรูปด้วยตาแล้ว จงอย่าเป็นผู้ถือเอาโดยนิมิต อย่าเป็นผู้ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ จงปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว เป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามกคือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จงรักษาจักขุนทรีย์ จงถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์

เธอทั้งหลายฟังเสียงด้วยหูแล้ว สูดกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้วอย่าได้เป็นผู้ถือเอาโดยนิมิต อย่าได้เป็นผู้ถือเอาโดยอนุพยัญชนะจงปฏิบัติเพื่อความสำรวมมนินทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จงรักษามนินทรีย์ จงถึงความสำรวมในมนินทรีย์

ขอถวายพระพร แม้ข้อนี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ผู้ยังเป็นหนุ่ม ยังไม่หมดความปรารถนาในกามทั้งหลาย สามารถประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน
พระเจ้าอุเทนตรัสว่า น่าอัศจรรย์ ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ไม่เคยมีแล้ว ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ตามกำหนดธรรมปริยายนี้ อันพระผู้มีพระภาคผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสดีแล้ว

ข้าพเจ้าเข้าใจแล้วว่า ข้อนี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ผู้ยังเป็นหนุ่ม ยังไม่หมดความปรารถนาในกามทั้งหลาย สามารถประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน

ข้าพเจ้าเข้าใจแล้วว่า ถ้าในสมัยใดแม้ข้าพเจ้าเอง มีกายมิได้รักษาแล้ว มีวาจามิได้รักษาแล้ว มีจิตมิได้รักษาแล้ว มีสติมิได้ตั้งไว้แล้ว มีอินทรีย์ทั้งหลายมิได้สำรวมแล้ว เข้าไปสู่ฝ่ายในในสมัยนั้น ความปรารถนาทั้งหลายก็จะครอบงำข้าพเจ้ายิ่งนัก

ข้าพเจ้าเข้าใจแล้วว่า ถ้าในสมัยใดแล ข้าพเจ้ามีกายอันรักษาแล้ว มีวาจาอันรักษาแล้ว มีจิตอันรักษาแล้ว มีสติอันตั้งไว้แล้ว มีอินทรีย์ทั้งหลายอันสำรวมแล้วเข้าไปสู่ฝ่ายใน ในสมัยนั้น ความปรารถนาทั้งหลายก็จะไม่ครอบงำข้าพเจ้า

ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนักท่านประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจะเห็นรูปได้ ฉะนั้น

ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นกับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง ขอท่านจงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งจนตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเถิด ฯ

วันอังคารที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2556

252: นิทรรศการ “ทำจากธรรม” (Made in Dhamma)


แนวความคิด
กลุ่มหนึ่งสองสาม เป็นการรวมตัวกันของอาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวน 3 คน ที่มีความเชื่อ และศรัทธาในเรื่องเดียวกัน นั่นคือ ความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาว่าเป็นหนทางเดียวแห่งการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด โดยมีพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องนำทาง มีการปฏิบัติเป็นหนทางไปสู่จุดหมายและอาศัยร่างกายเป็นเครื่องมือ นั่นเป็นศรัทธาทางธรรมในทางโลก เราเชื่อและศรัทธาในพลังของงานสร้างสรรค์ทางศิลปะ ว่าเป็นสิ่งจรรโลงใจ สร้างจินตนาการสร้างความสั่นสะเทือนต่ออารมณ์ในแง่ใดแง่หนึ่ง พร้อมทั้งสามารถเป็นเครื่องมือในการแสดงออกซึ่งความคิด จินตภาพภายในให้ปรากฏเป็นผลงานเชิงประจักษ์ จากความเชื่อและความศรัทธาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการนำเสนองานในครั้งนี้เพื่อ ถ่ายทอดความคิดและบางมุมมองของความศรัทธาสู่สาธารณะบอกกล่าวความรู้สึกนึกคิดจากวิถีแห่งธรรมสู่วิถีแห่งโลก สร้างสุขภาพแห่งใจ และมุ่งหวังว่างานครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มที่นำไปสู่หนทางของการสร้างสรรค์ในครั้งต่อๆไปในการนำเสนองานครั้งนี้ ประกอบไปด้วยงาน textile เทคนิคผสม งานพิมพ์เทคนิคผสม และงานกระดาษ ตามความถนัดของแต่ละคน ภายใต้แนวความคิดเรื่องความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา “ ทำจากธรรม ”

Read More: http://www.portfolios.net/events/made-in-dhamma#ixzz2bAapL8wZ

วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2556

251: 12 สิงหา 56 วันแม่แห่งชาติ

12 สิงหา วันแม่แห่งชาติ

หากพูดถึงแม่ ก็คงไม่ต้องพูดถึงความเมตตาอันหาประมาณมิได้ที่ท่านมีต่อลูกๆทุกคน อันพระคุณของท่านนั้นยิ่งใหญ่เพียงใด ลูกๆทั้งหลายที่มีความกตัญญูกตเวทีน่าจะตระหนักกันดี

หากพูดถึงแม่ ท่านนึกถึงใครกันบ้างหนอ?
แน่นอนว่าก็ต้องนึกถึง "แม่ผู้บังเกิดเกล้า" เป็นลำดับแรก แล้วท่านแม่อื่นๆหล่ะมีบ้างไหม? ย่อมเป็นธรรมดาที่พวกเราลูกหลานชาวไทยย่อมมีแม่ที่ท่านเป็นแม่ของทุกคนนั้นคือ สมเด็จแม่ - แม่บังเกิดเกล้า

หรือสมเด็จพระบรมราชินีนาถของปวงชนชาวไทย นับเป็นแม่คนที่สองหลังจากที่ได้ลืมตาดูโลกมาในยุครัชกาลขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ปัจจุบันนี้ โดยทางการให้ถือเอาวันที่ 12 สิงหา เป็นวันแม่แห่งชาติของทุกปี ลูกๆทั้งหลายย่อมแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที นั่นคือไปแสดงความเคารพต่อท่าน ตามความเหมาะสม เช่น นำดอกมะลิสีขาว และมีกลิ่นหอม บริสุทธิ์ ไปกราบขอขมาบูชาท่าน ด้วยท่านเป็นทั้งแม่ผู้ให้กำเนิด เป็นทั้งคุณครูคนแรกของเรา จากนั้นก็พาท่านเข้าวัด ตักบาตร ทำบุญ บำเพ็ญกุศล ตามแต่ความสะดวก แล้วน้อมถวายบุญแด่แม่หลวงของปวงชนชาวไทยให้พระองค์ท่านทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
พระแม่กวนอิม
นอกจากสองแม่นี้แล้ว ลูกหลานชาวจีนย่อมคิดถึงอาม่ากวนอิม แต่ผมขอเรียกพระนามของพระองค์ท่านว่า พระแม่กวนอิม หรือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เนื่องเพราะพระองค์ท่าน ทรงเป็นพระมหาโพธิสัตว์ที่เต็มไปด้วยความเมตตาและอารีต่อเวไนยสัตว์ทั้งหลาย ทรงตั้งปณิธานว่า พระองค์จะไม่เสด็จเข้าสู่แดนพระนิพพานหากไม่สามารถรื้อขนสัตว์โลกไปสู่แดนพระนิพพานได้ทั้งหมด จึงควรที่พวกเราลูกหลานชาวพุทธ ได้ตระหนักและรักท่านให้มาก สมกับที่พระองค์ท่านมีความเมตตากรุณาต่อเรา หมู่มวลมนุษย์ (แม้เราๆบางท่านจะไม่รู้ก็ตาม)
พระแม่ธรณี
หากใครได้อ่านหนังสือหรือศึกษาเกี่ยวกับพุทธประวัติ ย่อมรู้ดีถึงบทบาทของพระแม่ที่สำคัญมากพระองค์หนึ่งนั่นคือ พระแม่ธรณี พระนามของพระองค์คือ "สุนทรา" ทราบมาคร่าวๆว่า พระแม่ธรณีท่านทรงปราถนาพุทธภูมิ ผืนดิน ผืนธรณีนี้มีคุณกับเรามาก ย่อมต้องมีเทพรักษา พวกเราชาวพุทธ หลังจากทำบุญแล้ว นึกไม่ออก บอกไม่ถูกว่าจะฝากบุญนี้ไปให้กับใคร หรือปลายทางจักได้รับหรือไม่หนอ ก็ขอให้โปรดระลึกนึกถึงพระแม่ธรณี ขอให้ท่านเมตตามาโมทนาในส่วนบุญของเรา และขอน้อมฝากบุญของเราไปถึงบุคคลหรือญาติที่ท่านปรารถนาจักส่งบุญไปให้ ย่อมเป็นการระลึกนึกถึงท่านอย่างสม่ำเสมอ

พระแม่โพสพ
พระแม่คงคา
พระแม่คงคา เทพผู้รักษาผืนน้ำ ในวันเพ็ญเดือน 12 เราได้ไปลอยกระทง ขอขมาองค์ท่าน

(จะสังเกตุว่า เทพองค์ใดที่มีความกรุณาต่อมนุษย์อย่างมาก เราจักเรียกพระนามของพระองค์ท่านว่า "พระแม่" เพื่อยกท่านให้อยู่สูงกว่าเรา จักไม่ดึงท่านลงมาในระดับเดียวกับเรา เป็นการแสดงออกถึงความเคารพต่อผู้ที่ท่านอยู่เบื้องสูง ทั้งทางกาย วาจา และทางใจของเรา นั่นย่อมได้รับพรอันเป็นมงคลกลับมา)


แม่นางกวัก
สุดท้าย ขาดไม่ได้ก็คือ แม่นางกวัก คนค้า คนขาย ย่อมรู้จักท่านดี ก่อนเปิดกิจการ ร้านค้า นอกจากองค์พระพุทธปฏิมากรแล้ว เห็นจะมีแม่นางกวักกันแทบทุกร้านค้า เพื่อความเจริญรุ่งเรืองและเรียกลูกค้า ตามตำนานก็ว่ากันว่ามีตัวตนจริง หากเราให้ความ้คารพนับถือท่านด้วยความบริสุทธิ์ใจ ก็ย่อมได้รับความเมตตากลับมาเช่นกัน

12 สิงหาคม 2556 นี้ ไปแสดงออกถึงความเคารพต่อแม่ผู้บังเกิดกล้าของเรา แล้วน้อมระลึกนึกถึงพระคุณของพระแม่ ที่ท่านอยู่เบื้องบนด้วย เชื่อมั่นว่า ความเป็นมงคล ย่อมสะท้อนกลับมาหาตัวท่านอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีงามต่อลูกหลานของเรา ให้เขาช่วยสืบทอดต่อไปตราบนานเท่านานฯ

สำหรับวาระวันแม่ปีนี้ ระหว่างวันที่ 10-12 ส.ค.56 ผมตั้งใจว่าจักเดินทางไปแสวงบุญ ณ พุทธสถานภูดานไห เพื่อถวายงานองค์พ่อแม่ครูอาจารย์ คือการทำความสะอาดองค์พระประธาน (หลวงปู่ใหญ่ล้านบารมี) จากนั้นองค์พ่อแม่ครูอาจารย์จักนำพาลูกศิษย์ทำพิธีทาสีทองที่องค์พระครับ หากญาติธรรมท่านใดที่สะดวกก็ขอเชิญทำบุญใหญ่ในวาระวันแม่ปี 56 นี้ที่พุทธสถานภูดานไหร่วมกันนะครับ 

ขอโมทนาสาธุในกิจอันเป็นกุศลของทุกท่านทุกประการครับ



IT Man/02.08.56

250: วันเข้าพรรษาที่ 23 ก.ค.56