วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2556

274: ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนา


วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556

273: การระลึกชาติของหลวงปู่ศรีทัต


การระลึกชาติของหลวงปู่ศรีทัต

“โดย..พระอริยคุณาธารฯ (เส็ง ปุสโส) วัดป่าเขาสวนกวาง ขอนแก่น”



พระอาจารย์ศรีทัศน์ (ศรีทัต) พ.ศ. 2476 - 2484
เป็นผู้สร้างพระเจดีย์ครอบรอยพระพุทธบาทบัวบก จ.อุดรธานี
พระธาตุท่าอุเทน จ.นครพนม และ พระพุทธบาทโพนฉัน ประเทศลาว





“..เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ ข้าพเจ้า (พระอริยคุณาธาร) มีโอกาสติดตาม "เจ้าคณะมณฑลอุดร" ไปตรวจการคณะฯ ทางริมฝั่งแม่น้ำโขง ในเขตจังหวัดหนองคายไปถึงบ้านโพนแพง อำเภอโพนพิสัย พักแรมที่ "วัดโพนเงิน" ตรงข้ามกับ "พระพุทธบาทโพนฉัน" ในเขตประเทศลาว ครั้งนั้น "พระอาจารย์ศรีทัต" กำลังก่อสร้างอุโมงค์ (กะตึบ) คร่อมพระพุทธบาทอยู่ที่นั่น
วันรุ่งเช้าเจ้าคณะมณฑลข้ามฟาก (แม่น้ำโขง) ข้าพเจ้าขอโอกาสสนทนากับพระอาจารย์ศรีทัต ข้าพเจ้าพึ่งพบกันเป็นครั้งแรกในครั้งนั้น แต่ก็สนิทสนมกันง่ายดาย คล้ายกับได้รู้จักคุ้นเคยกันมานานแล้ว
เรื่องสำคัญที่สนทนากันในวันนั้น เป็นเรื่องเกี๋ยวกับการระลึกชาติของพระอาจารย์ศรีทัต ท่านกล่าวว่าท่านได้ฌานและอภิญญาณโลกีย์ มีความรู้ระลึกชาติในอดีตอนาคตของท่านได้ตลอดถึงคนอื่นที่เกี่ยวข้องกันท่านกล่าวว่า ข้าพเจ้ากับท่านเคยเป็น “พ่อลูกปลูกโพธิ์” มาด้วยกัน แต่ต่างคนต่างมีกรรมเป็นของตน
กรรมซัดไปติดคนละทางคนละทิศห่างไกลกัน ทั้งอายุกาล ก็ห่างกันด้วย ถึงดังนั้นบุญก็ยังบันดาลให้มาประสบพบพานกันได้ การพบกันครั้งนี้เป็นทั้งครั้งแรก เป็นทั้งครั้งสุดท้าย (ท่านอายุ ๗๑ แล้ว) จึงขอถือโอกาสบอกเล่าเก้าสิบเรื่องที่เกี่ยวข้องกันไว้ กับขอฝากให้เลี้ยงดูท่านในเมื่อเกิดชาติหน้านั้นด้วย
พระอาจารย์ศรีทัศน์ท่านกล่าวว่า ท่านเป็นนิยโตโพธิสัตว์ ได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว จักเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลโน้น" และเป็นชนิด “สัทธาธิกะ” มีกำหนดสร้างบารมี ๑๖ อสงไขยกัลป์ จึงสำเร็จพระโพธิญาณ
ท่านกล่าวว่าในอดีตชาตินานมาแล้ว ท่านเคยเป็นลูกของข้าพเจ้า และในชาติหน้าในลำดับต่อไปนี้ แม้จะไม่ได้เป็นลูกเกิดแต่ในอกของข้าพเจ้า ขอแต่เป็น “ลูกบุญธรรม” ขอให้ข้าพเจ้าเลี้ยงลูกปลูกโพธิ์อีกครั้งข้าพเจ้าได้ฟังแล้วก็เอะใจ ! และท่านกล่าวต่อไปว่า
ในสมัยกึ่งพุทธกาลนั้น พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ข้าพเจ้าจะเป็นคนสำคัญคนหนึ่งในสมัยนั้น ข้าพเจ้าจะไม่ได้ทันเห็น แต่ก็ไม่เป็นไร ในสมัยนั้นได้มาเกิดใหม่เป็นลูก “บุญธรรม” ของข้าพเจ้าท่านย้ำคำนี้หลายครั้งเพื่อให้กระชับใจข้าพเจ้า แล้วท่านกล่าวการเกิดใหม่ในอนาคตของท่านไว้ดังนี้
ท่านเกิดในชาติหน้าในท้องคนไม่มีสกุล พ่อผู้ให้กำเนิดไม่ปรากฏแก่คนทั้งหลาย แม่ผู้ให้กำเนิดเป็นคนพลัดถิ่นเขาจะไปคลอดบุตรในถิ่นที่ไม่มีคนรู้จักในบ้านชื่อว่า “บ้านสงเปลือย ตำบลพันคอน อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี” แล้วมารดาก็จะละทิ้งบุตรหนีไป มีทุคคตะ ผัวเมียคู่หนึ่งรับไปเลี้ยงไว้ในระยะแรก เพราะฐานะของท่านเป็นคนยากจน เลี้ยงอยู่ประมาณ ๓ เดือน ไม่สามารถจะเลี้ยงต่อไปได้
ท่านว่าทั้งนี้ก็เพราะเวรกรรมของท่าน ที่เอาลูกนกให้พลัดพรากจากแม่ของมันในอดีตชาติ ต่อจากนั้นจะมีผู้หญิงใจบุญคนหนึ่งเป็นหญิงหม้ายไม่มีบุตรซึ่งเคยเป็น “มารดา” ในชาติก่อนมารับไปเลี้ยงไว้เป็นบุตร “บุญธรรม” หญิงคนนั้นชื่อ “สายบัว” อยู่ในหมู่บ้านสงเปลือยนั้นเอง เคยเป็นภริยาหลวงวรวุฒิมนตรี นายอำเภอฯ
เมื่อเกิดในชาติหน้านั้น จะได้รูปส่วนสมทรงความยาวของวากับลำตัวจะเท่ากัน หลังมือหลังเท้านูนผิวขาวเหลือง สะอาดเกลี้ยงเกลาปราศจากไฝฝ้า ด้วยอำนาจบุญที่ปฏิสังขรณ์ตบแต่งและก่ออุโมงค์คร่อมพระพุทธบาท
แต่ใบหน้านั้นหักนิดหน่อย เพราะความใจน้อยโกรธง่าย ทำหน้าเง้าหน้างอ และจะมีเสียงก่าๆเพราะด้วยการกล่าวผรุสวาจา จะมีนามว่า “ถวัลย์” แต่คนมักจะเรียกเล่นๆกันว่า “บุญติด” แต่เมื่อได้มาอยู่กับข้าพเจ้าแล้ว จะเรียกกันว่า “เชียงโมง”




พระอริยคุณาธาร

เมื่อสนทนากันไปท่านเห็นว่า ข้าพเจ้าไม่ปลงใจเชื่อสนิท ท่านจึงขออนุญาตจากข้าพเจ้า จะเล่าประวัติของข้าพเจ้าในชาติปัจจุบันที่ล่วงมาแล้วให้ฟัง เพื่อเป็นพยานยืนยันความรู้ที่ท่านระลึกชาติได้ ข้าพเจ้าก็อนุญาต
ท่านได้เล่าประวัติความเป็นมาของข้าพเจ้าที่ล่วงมาแล้ว ถูกต้องตามความเป็นจริงทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนอย่างกับตาเห็น ข้าพเจ้าได้ใคร่ครวญหาเหตุผลว่าท่านรู้ได้อย่างไร (เวลานั้นข้าพเจ้าอายุ ๒๙ ปี) เข้าใจว่าท่านมีญาณชนิดหนึ่งรู้ได้จริง จึงต้องตกลงปลงใจเชื่ออย่างสนิท และรับปากคำว่าจะรับเลี้ยงท่านในเมื่อท่านเกิดใหม่ในชาติหน้า
จากวันพบพระอาจารย์ศรีทัศน์มาประมาณ ๓ ปีเศษ คือในราวปี พ.ศ. ๒๔๘๑ หรือต้นปี ๒๔๘๒ จำไม่แน่ ข้าพเจ้าได้รู้จักกับ "คุณนายสายบัว อินทรกำแหง" ซึ่งเคยเป็นภริยาของ "หลวงวรวุฒิมนตรี" มีภูมิลำเนาตรงกับที่ "พระอาจารย์ศรีทัศน์" บอกข้าพเจ้า จึงเล่าเรื่องที่กล่าวมาแล้วให้คุณนายสายบัวฟัง และสั่งไว้ว่า ถ้าคุณนายได้เด็กชายตามที่กล่าวมาแล้วมาเลี้ยงไว้ ขอให้ส่งข่าวด้วย
จากวันพบคุณนายสายบัวมาแล้วประมาณ ๑๕ ปี ข้าพเจ้าทราบว่าคุณนายสายบัวได้เด็กชายมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว จึงหาโอกาสไปพบ คุณนายก็นำเด็กนั้นมาให้ข้าพเจ้าดูที่วัดในหมู่บ้านนั้น เวลานั้นเด็กนั้นมีอายุได้ ๓ ขวบ เกิดใน พ.ศ. ๒๔๙๓ ข้าพเจ้าได้สอบถามเหตุการณ์เมื่อแรกเกิดและที่ได้มา
คุณนายสายบัวเล่าว่า มีหญิงคนหนึ่งพลัดถิ่นมาที่บ้านสงเปลือยไม่มีใครรู้จัก พอมาถึงในคืนนั้นก็ปวดท้องคลอดบุตรชาวบ้านได้ช่วยกัน พอรุ่งเช้าชาวบ้านต้มน้ำร้อนจะให้เขาอาบ พอน้ำเดือด เขาตักมาจะลวกบุตรให้ตาย ชาวบ้านป้องกันไว้ทัน เอาบุตรซ่อนเสีย เลยเขาหนีเตลิดเปิดเปิงไปในวันนั้น มีผัวเมียคู่หนึ่งรับไปเลี้ยงไว้ ๓ เดือน เลี้ยงไม่ไหวเพราะความยากจน จึงนำมามอบแก่คุณนายสายบัว
คุณนายสายบัวเล่าต่อไปว่า ก่อนที่เขาจะนำเด็กมาให้ ในคืนนั้นฝันว่า “มีแก้วเก้าสี มีรัศมีรุ่งเรือง มาประดิษฐานอยู่ที่ชานเรือน รู้สึกดีใจไปรับเอามาไว้” พอรุ่งเช้าก็ได้รับเด็กคนนี้ ต่อมาได้ขนานนามว่า “ถวัลย์” แต่เรียกกันเล่นๆว่า “บุญติด”
ตามที่คุณนายสายบัวเล่าให้ข้าพเจ้าฟังนี้ ตรงกับที่พระอาจารย์ศรีทัศน์พูดไว้กับข้าพเจ้า ตลอดถึงลักษณะของเด็กด้วยทุกประการ ข้าพเจ้าจึงพูดกับคุณนายสายบัวว่า จะขอรับเอาไปเป็นบุตรบุญธรรม แต่ยังเล็กอยู่เกรงเด็กจะลำบาก ขอให้คุณนายเลี้ยงไปก่อนกว่าจะมีวัยอันสมควร
พ.ศ. ๒๔๙๖ ออกพรรษามาแล้ว ข้าพเจ้าไปบ้านสงเปลือยอีกครั้งหนึ่งพักอยู่ที่วัดฯ คุณนายสายบัวพาเด็กชายคนนี้มาต้อนรับ ข้าพเจ้าอยากจะพิสูจน์ให้แน่อีกครั้งหนึ่งว่า จะเป็นอาจารย์ศรีทัศน์แน่หรือไม่
จึงถามเขาว่า เมื่อก่อนนั้น ตัวชื่อศรีทัศน์หรือไม่? เขาตอบทันทีว่า “ใช่” แล้วข้าพเจ้าก็ยุติไว้เพียงนั้น ไม่เล่าเรื่องอาจารย์ศรีทัศน์ให้เขาได้ยิน เพราะเพื่อจะสังเกตความเป็นไปต่อไป.."



เมื่อคุณนายสายบัวพากลับบ้านแล้ว คุณนายสายบัวกลับมาเล่าให้อาตมาฟังว่า เด็กนั้นเมื่อกลับถึงบ้านได้เล่าเรื่องราวครั้งเป็น "อาจารย์ศรีทัศน์" ในชาติก่อนให้คุณนายสายบัวฟัง แต่ทว่าไม่ติดต่อกัน เล่าเฉพาะเรื่องสำคัญของชีวิตเป็นท่อน เป็นตอน พอรู้ได้ว่าเขาระลึกชาติได้
พ.ศ. ๒๔๙๗ กลางปี คุณนายสายบัวนำเด็กชายคนนี้มาให้ข้าพเจ้าที่นี่ (วัดป่าเขาสวนกวาง) ข้าพเจ้าเอารูปถ่ายของพระอาจารย์ศรีทัศน์ให้ดู แล้วถามว่า นี่รูปของใคร? เขาตอบว่ารูปของเขาในตอนปลายปี (ตั้งแต่พระอาจารย์ศรีทัศน์มรณภาพ จนถึงเด็กชายคนนี้เกิด ประมาณ สิบปีกว่าๆ เมื่อท่านทำนายนั้น พระอาจารย์ศรีทัศน์ อายุ ๗๑ ปี)
ต่อมาข้าพเจ้ามีธุระไปที่อุดรพาเด็กชายคนนี้ไปด้วย วันหนึ่งข้าพเจ้าไปเยี่ยม "พระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขตร์" พอขึ้นไปบนบ้านเฆ้น เจ้าคุณอดรกำลังนั่งโต๊ะรับประทานอาหารเย็น เด็กชายคนนี้ก็ตรงรี่เข้าไปหา และทำท่าจะรับประทานอาหารร่วมด้วย เจ้าคุณอุดรมีความเมตตาจึงจัดอาหารให้รับประทาน ข้าพเจ้ามานั่งรอคอยท่านเจ้าคุณอุดรอยู่ที่โต๊ะรับแขกใต้ซุ้มกล้วยไม้
เมื่อเด็กชายนั้นได้รับประทานอาหารเสร็จแล้ว ข้าพเจ้าถามว่า ไม่กลัวท่านหรือ ท่านเป็นพระยา เขาตอบว่าไม่กลัว เพราะเคยรู้จักกับท่าน ข้าพเจ้าถามว่ารู้จักท่านที่ไหน? เขาตอบว่า รู้จักเมื่อครั้งก่ออุโมงค์คร่อม "พระพุทธบาท" ที่อำเภอบ้านผือ



(พระพุทธบาทบัวบก อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี และ พระพุทธบาทโพนฉัน ประเทศลาว)

พอเจ้าคุณอุดรมานั่งกับข้าพเจ้าเรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าถามเจ้าคุณอุดรว่าเมื่อครั้งพระอาจารย์ศรีทัศน์ก่ออุโมงค์ค์คร่อมพระพุทธบาทที่บ้านผือนั้น ท่านเจ้าคุณเคยไปและเคยรู้จักสนิทกันกับพระอาจารย์ศรีทัศน์หรือไม่? ท่านเจ้าคุณอุดรตอบว่า เคยไป และรู้จักสนิทสนมกันมาก
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๗ จนถึงปัจจุบันนี้ เด็กคนนี้ได้มาอยู่กับข้าพเจ้าที่นี่ เมื่อคนต่างถิ่นมาเยี่ยม ถ้าคนนั้นเคยรู้จักกับพระอาจารย์ศรีทัศน์ แม้เขาจะไม่รู้จักก็แสดงอาการสนิทสนมเหมือนกับคนที่เคยรู้จักมาช้านานแล้ว แต่ถ้าคนนั้นไม่เคยรู้จักกับพระอาจารย์ศรีทัศน์ แม้จะแนะนำให้เขารู้จัก เขาก็ไม่แสดงอาการสนิทสนม แสดงอาการธรรมดาอย่างคนที่พึ่งรู้จักกัน
เด็กคนนี้เมื่อมาอยู่กับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องการทดลองว่าเขาจะเคยบวชในชาติก่อนหรือไม่ จึงตัดสบงจีวรและย่ามเล็กๆให้ ทำทีบรรพชาให้เป็นสามเณร เขาแสดงอาการดีใจชื่นบานหรรษา ส่อว่ามีอุปนิสัยในการบวชมาแล้ว เมื่อบวชแล้วอดข้าวเย็นไม่ได้ ต้องสึกกินข้าวเย็นในวันนั้น (อายุ ๕ ขวบกับ ๗ เดือน เกิดวันอังคาร แรม ๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีขาล วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๓ เวลา ๕.๐๐ น.เศษ) จึงตั้งชื่อล้อเลียนเขาว่า “เชียงโมง” คนที่บวชเณรไม่ข้ามวันแล้วสึก ทางภาคอิสานเรียกผู้สึกจากเณรนั้นว่า “เชียง”
เมื่อเหตุการณ์ตรงกับคำพยากรณ์ของ "พระอาจารย์ศรีทัศน์" ทุกประการดังที่เล่ามา ตลอดถึงพฤติการของเด็ก ข้าพเจ้าจึงปลงใจเชื่อว่าอาจารย์ศรีทัศน์มาเกิดและระลึกชาติได้จริง ข้าพเจ้าจึงขอรับรองด้วยเกรียติยศ และศีลธรรมว่า เป็นความจริงดังที่กล่าวมามิได้เสกสรรปั้นแต่งขึ้น ขอส่งเรื่องนี้แก่ยุวพุทธิกะ เพื่อเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์การกลับชาติมาเกิดใหม่ของคน.


พระอริยคุณาธาร
วารสาร ยุวพุทธิกะสมาคมแห่งประเทศไทย ปีที่ ๖ เล่มที่ ๖ กุมภาพันธ์ – มีนาคม ๒๔๙๙ หน้า ๔๒


ป.ล. พระอริยคุณาธาร เวลานั้นเป็นเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น






สำหรับเรื่องราวเหล่านี้ ยังมีเรื่องเล่าจาก คุณทองทิว สุวรรณทัต เป็นผู้สัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงดังต่อไปนี้


"เด็กนั่น คือ..อาตมา"
พระถวัลย์ โชติธมฺโม
พระภิกษุท่านนั้น จากการสัมภาษณ์ท่านได้กล่าวยืนยันว่า “เด็กคนนั้นคืออาตมาเอง” แล้วท่านได้เปิดเผยว่า...ท่านชื่อ "ถวัลย์" นามสกุล "อินทรกำแหง" เกิดเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๓ ณ อำเภอกุมภวาปี จังหวัด อุดรธานี
บิดามารดาไม่มี เพราะเมื่อท่านเกิดมาแล้วจะตายหรือหายไปไหนทั้งคู่ก็ไม่ทราบเลย และจนบัดนี้ท่านมีอายุย่างเข้า ๓๘ ปี ก็ยังไม่ทราบว่าบิดามารดาของท่านเป็นใคร ? ชื่ออะไร ?
เพราะชีวิตเติบโตขึ้นมาด้วยการอนุเคราะห์เลี้ยงดูจาก "คุณแม่สายบัว อินทรกำแหง" จนอายุได้ ๓ ขวบก็นำไปให้ "ท่านเจ้าคุณพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส)" อุปการะต่อ และได้ใช้นามสกุล “อินทรกำแหง” เรื่อยมา
ครั้นอยู่กับท่านเจ้าคุณเส็งได้ ๒ ปี ท่านลงมากรุงเทพฯ ก็ได้พามาอาศัยอยู่บ้าน "คุณสนั่น วีรวรรณ" และได้เรียนหนังสืออยู่ที่โ รงเรียนสุกิจวิทยาลัยของ ท่านศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินทร์ ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมไปนานแล้ว โดยเริ่มเรียนตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ ๑ ถึงประถมปีที่ ๔
จากนั้นก็ไปสอบเข้าโรงเรียนวัดธาตุทอง จนถึงชั้นประถมปีที่ ๗ จบแล้วไปเรียนต่อที่โรงเรียนยาสูบอุปถัมภ์ ข้างสะพานเหลืองเดิมจนถึงชั้นมัธยมปีที่ ๒ ภายหลังเกิดมีปัญหาภายในบ้านเล็กน้อย ก็เลยสอบตก จึงกลับไปอยู่กับคุณแม่สายบัว และไปเรียนต่อจนจบชั้นมัธยมปีที่ ๓ ของโรงเรียนน้ำตาลอุปถัมภ์
แล้วของเก่าจะกลับมา
พระภิกษุถวัลย์ได้เล่าต่อไปว่า
เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ ๓ แล้ว ได้ไปรอทำงานอยู่ที่ "เขื่อนภูมิพล" จังหวัดตาก เพราะน้าชายซึ่งเป็นญาติห่าง ๆ จะฝากให้ แต่รออยู่นานก็ไม่ได้ทำงานสักที จึงกลับมาบวชเณร เมื่อปี ๒๕๑๒ ที่ วัดจอมสี อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี โดยมีท่านพระครูชิโนวาทธำรงค์ เป็นอุปัชฌาย์ (มรณภาพแล้ว)
เป็นสามเณรสมบูรณ์แล้วก็ไปอยู่ "วัดเขาสวนกวาง" กับ "ท่านเจ้าคุณเส็ง" พออายุครบอุปสมบทก็บวชเป็นพระภิกษุ โดยมี "ท่านพระครูอินทรโสภณ" เป็นอุปัชฌาย์ ได้ฉายาว่า "โชติธัมโม"
ท่านเจ้าคุณเส็งได้สอนให้ปฏิบัติกรรมฐานและสอนให้เร่งความเพียรให้หนัก ท่านบอกว่า “ให้เพียรทำสมาธิเรื่อย ๆ แล้วของเก่าจะกลับมา”
มารผจญ
แต่ท่านพระภิกษุถวัลย์ อุปสมบท เป็นพระภิกษุได้เพียงไม่กี่พรรษา สอบนักธรรมโทได้ ก็ต้องลาสิกขาออกมาผจญกับความวุ่นวายในเรื่องทางโลกอยู่อีกหลายปี
“อาตมาสึกออกมามีครอบครัวแล้วก็อยู่กันได้ไม่นานก็แยกทางกัน อาตมาก็มาพิจารณาดูว่าจะไปทางไหน จนเห็นว่าไม่มีทางไหนดีกว่าอยู่ในสมณเพศ เพราะมีแต่ความสงบร่มเย็น อาตมาจึงได้กลับมาอุปสมบทโดยมีอุปัชฌาย์องค์เดิมเป็นผู้บวชให้” ท่านเล่าให้ฟัง ปัจจุบันท่านจำพรรษาอยู่ที่ วัดวงศ์สนิทเมตตาราม ตำบลกะเฉด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง
“อาตมายังไม่ลืมพระคุณของ "ท่านเจ้าคุณเส็ง" เลย อาตมาเคยไปกราบท่านในฐานะท่านเป็นผู้มีพระคุณชุบเลี้ยงอาตมา มาที่วัตเขาสวนกวาง ได้เข้าไปปฏิบัติรับใช้ท่านอยู่ ท่านรู้จักหลักธรรมะดี ท่านพูดแต่ละคำเป็นหลักธรรมโดยตรงเลย
ทุกวันนี้ อาตมาสวดมนต์ภาวนาแล้วอุทิศกุศลไปให้ท่านเจ้าคุณทุกครั้ง และตั้งใจจะอยู่ในสมณเพศไปเรื่อย ๆ ตั้งใจจะปฏิบัติภาวนาให้จิตสงบจนถึงที่สุด แต่คงต้องใช้เวลาบ้าง เพราะอาตมาใช้ชีวิตทางโลกมานาน เพิ่งจะกลับมาบวชได้สองพรรษานี้เอง” ท่านพระภิกษุถวัลย์กล่าวในที่สุด

เรื่องหลวงปู่สีทัตถ์กลับชาติมาเกิดเป็น "พระถวัลย์ โชติธัมโม" จึงจบเพียงแค่นี้ แต่ความนึกคิดของผู้เขียน (คุณทองทิว) ยังไม่จบ ด้วยผู้เขียนมีความสงสัยว่าจิตที่ออกจากรูปกายของคนเราเมื่อตายไปแล้วเป็นวิญญาณนั้น ไปอยู่ที่ไหนกันแน่ ?
ดังรายของ พ.อ.(พิเศษ) เสนาะ จินตรัตน์ ซึ่งเพิ่งจะถึงแก่อนิจกรรมเมื่อไม่นานมานี้ คุณอัญชลี จินตรัตน์ ภรรยาของท่านได้บอกแก่ผู้เขียนในวันหนึ่งว่า
“หนูมีความรู้สึกว่าพี่เหนาะอยู่ใกล้ ๆ หนูนี่เอง ไม่ได้ไปไหน”
และมารดาของเธอก็ยังเป็นผู้เห็นผู้การฯเสนาะเข้ามาเยี่ยมภรรยาและลูกสาวของท่านถึงในมุ้ง ทั้งยืนยันได้ว่าไม่ใช่ความฝัน
หรืออย่างราย ท่านศาสตราจารย์ "ดร.คลุ้ม วัชโรบล" ก็เช่นกัน ถ้าวิญญาณของท่านไปอยู่บนสรวงสวรรค์ เหตุไฉนลูกชายของท่าน จึงสามารถเป็นร่างให้วิญญาณของท่านเข้ามาแฝงอยู่ได้ ในรายการพิสูจน์เกี่ยวกับวิญญาณทางวิทยาศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ?
ใครจะสามารถเรียกวิญญาณที่อยู่บนสวรรค์ชั้นสูงลงมายังโลกมนุษย์ได้ครั้งแล้วครั้งเล่า ? “แล้วถ้าเช่นนั้น วิญญาณอยู่ที่ไหน ?”
คำถามข้อนี้ผู้เขียนไม่สามารถจะตอบให้ชัดเจนลงไปได้ นอกจากจะต้องใช้เวลาศึกษาอีกมาก เพราะดั่งราย "หลวงปู่สีทัตถ์" ที่กลับมาเกิดในชาตินี้เป็นพระถวัลย์ อินทรกำแหง นั้น
หลวงปู่สีทัตถ์เป็นพระภิกษุที่เชี่ยวชาญทางอภิญญาเป็นอย่างยิ่ง สามารถบอกแก่เจ้าคุณอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส) ได้ล่วงหน้าว่า ท่านจะมาเกิดเป็นเด็กกำพร้า ขอให้ช่วยอปถัมภ์เลี้ยงดูด้วย !
ปัญหาอยู่ตรงที่ระหว่างวิญญาณหลวงปู่สีทัตถ์ยังไม่ได้เกิดนั้นอยู่ที่ไหน ? ลอยละล่องคอยการจุติหรือไปอยู่บนสวรรค์ชั้นไหน ?
ใครคิดออกช่วยกรุณาบอกแก่ผู้เขียนด้วยจะเป็นพระคุณเพราะปัญหาทางภูมิธรรมของผู้เขียนมีน้อยเกินกว่าจะคาดคะเนได้
และจะขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง ถ้าชี้หนทางให้ผู้เขียนได้พบกับท่านผู้มีภูมิธรรมอันสูง เพื่อจะได้เรียนถามท่านด้วยตัวผู้เขียนเอง จึงขอขอบพระคุณล่วงหน้ามา ณ ที่นี้
ประวัติพระทรงคุณ
ในโอกาสนี้ เมื่อได้พูดถึง "พระถวัลย์ โชติธัมโม" ซึ่งเป็นชาติปัจจุบันของ "หลวงปู่สีทัตถ์" พระผู้มากบารมีในครั้งอดีต ก็ใคร่ขอนำประวัติในอดีตชาติของท่านซึ่งได้เคยสร้างคุณมหาศาลแก่วงการพระพุทธศาสนามาเสนอแก่ท่านสักเล็กน้อย
หลวงปู่สีทัตถ์ ท่านเป็นชาวท่าอุเทนโดยกำเนิด ท่านเกิดที่หมู่ที่ ๔ ตำบลท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เมื่อพ.ศ. ๒๔๐๘ โยมบิดาชื่อ นายมาก โยมมารดาชื่อ นางดา สุวรรณมาโจ
เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ท่านได้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดโพนแก้ว อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรมทางบาลีจากท่านพระอาจารย์ขันธ์ พระอาจารย์ผู้มีวิทยาคมสูงยิ่งแห่งวัดโพนแก้วนั่นเอง เมื่อเห็นว่ามีความรู้ขั้นพื้นฐานดีแล้ว ท่านจึงได้ย้ายสำนักไปเรียนอยู่กับ "พระอาจารย์ตาคำ" แห่งวัดศรีสะเกษในตัวเมืองท่าอุเทนเช่นกัน
การเรียนในสำนักของพระอาจารย์ตาดำนั้น ท่านมุ่งเรียนในวิชามูลกัจจายน์และคัมภีร์ทั้ง ๕ จนมีความรู้แตกฉานในทางบาลีเป็นอย่างดี ในสมัยนั้นการศึกษาทางฝ่ายปริยัติธรรม ยังไม่ได้แยกเป็นชั้นเช่นทุกวันนี้ คือนักธรรมชั้นตรี โท เอก และมหาเปรียญแต่อย่างใด เพียงแต่เรียนรวมกันทีเดียวเป็นปี ๆ เลย
ชีวิตที่ผันแปร
ในประวัติเมืองท่าอุเทนซึ่งเขียนโดย "นายเมธี ดวงสงค์" ได้เขียนถึงประวัติของหลวงปู่สีทัตถ์พระอาจารย์ผู้สร้าง "พระธาตุท่าอุเทน" เอาไว้ว่า
หลวงปู่สีทัตถ์ท่านบวชถึง ๓ ครั้ง และได้ลาสึกถึง ๒ ครั้ง ส่วนสาเหตุที่ทำให้ท่านต้องลาสิกขาบทออกไป แล้วเข้ามาบวชอีกว่า เป็นเพราะมีเรื่องทางโลกเข้ามารบกวนความสงบของท่านกล่าวคือ มีเหตุอันเป็นกระแสแห่งโลกทำให้ท่านต้องสึกไปแต่งงานซ้ำแล้วซ้ำอีก
ชาวบ้านที่เคารพนับถือท่านบางคนก็กล่าวว่า สาเหตุที่หลวงปู่สีทัตถ์ท่านลาสิกขาไปนั้น คงเนื่องมาจากมี พระบาง อยู่ในวัด แต่มูลเหตุดังกล่าวนี้ก็เป็นความเข้าใจของคนบางคนเท่านั้นจะมีความจริงเท็จแค่ไหนเพียงไรก็ยากที่จะนำมาพิสูจน์กัน สืบต่อกันมา
พระบาง
พระบางนี้ได้มีผู้เล่าสืบต่อกันมาว่า ได้มีการสร้างขึ้นในประเทศลาว โดยคณะกรรมการ ๒ ฝ่ายเป็นผู้ร่วมกันสร้างขึ้นคือ ฝ่ายสงฆ์มี "สมเด็จเหมมะวันนา" เป็นประธาน ส่วน ฝ่ายฆราวาส มี "พญาแมงวัน" (มีรูปแมลงวันติดอยู่ที่หน้าผาก) ผู้เป็นเจ้าเมืองเหิบ ประเทศลาวเป็นประธาน
ในครั้งนั้นได้หล่อพระที่มีขนาดเท่ากันขึ้น ๒ องค์ องค์หนึ่งเป็นพระขัดสมาธิ (ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่บ้านดอนติ้ว เมืองหินปูน ประเทศลาว)
องค์ที่สองนั้นเป็นพระยืนปางห้ามสมุทร คือพระบาง ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดไตรภูมิ ตำบลท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทนจังหวัดนครพนม

อาถรรพณ์พระบาง
หลังจากได้อัญเชิญพระบางจากประเทศลาวมาประดิษฐานที่วัดพระธาตุท่าอุเทนได้ไม่นาน ก็ต้องย้ายไปประดิษฐานยังวัดไตรภูมิ ส่วนสาเหตุที่ต้องย้ายที่ประดิษฐานพระบางจากวัดพระธาตุท่าอุเทนไปประดิษฐานไว้ที่วัดไตรภูมินั้นก็สืบเนื่องมาจาก หลวงปู่สีทัตถ์ ท่านต้องลาสึกถึง ๒ ครั้งนั่นเอง
ทั้งนี้เพราะเป็นความเชื่อถือของชาวบ้านว่า พระบางเป็นพระที่ไม่ให้คุณ มีอาถรรพณ์ทำให้หลวงปู่สีทัตถ์ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ที่มีผู้เคารพนับถือมากในลุ่มแม่น้ำโขง ตลอดจนถึงฝั่งลาวต้องลาสึก ซึ่งเรื่องราวมีว่า
หลังจากหลวงปู่สีทัตถ์ท่านเข้ามาบวชเป็นครั้งที่สองนั้น ท่านมักจะออกแสวงหาความวิเวกตามสถานที่สงบต่าง ๆ อยู่เสมอ และการอุปสมบทครั้งที่สองของท่านนั้น ท่านอุปสมบทหลังจากที่พระบางได้มาประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุท่าอุเทนแล้ว คือหลังปี พ.ศ. ๒๔๕๐
ส่วนสาเหตุที่ท่านต้องสึกอีกครั้งนั้น มีเรื่องเล่าว่า ท่านพร้อมกับลูกศิษย์องค์หนึ่งได้ถือธุดงคกรรมฐานไปที่ฝั่งลาว วันหนึ่ง ขณะที่ท่านนั่งกรรมฐานอยู่นั้น ท่านได้ยินเสียงร้องรำของหญิงสาวชาวบ้านมีความไพเราะจับใจมาก ถึงขนาดตัดสินใจลาสิกขาบทในคืนวันนั้นทันที
หลวงปู่ท่านได้ลาสิกขาเปลื้องผ้ากาสาวพัสตร์แล้ว ไปสู่ขอหญิงสาวชาวบ้านผู้ที่ร้องรำคนนั้นกับบิตามารดาทันที ซึ่งบิดามารดาของหญิงสาวก็ไม่ขัดข้องเพราะมีความเคารพนับถือท่านมากอยู่แล้ว
การลาสิกขาบทของท่านสร้างความประหลาดแก่ผู้พบเห็นในเวลานั้นเป็นอย่างยิ่ง เพราะจู่ ๆ พระผู้ทรงศีลาจารวัตรอันงดงาม ต้องมาพ่ายแพ้กิเลสอันเป็นตัวมารอย่างง่าย ๆ เช่นนั้นจึงทำให้ชาวบ้านคิดไปว่าคงเป็นเพราะพระบางที่อยู่ในวัดมีอาถรรพณ์จึงบันดาลให้ท่านเป็นไป
ต่างลงความเห็นกันว่าไม่สมควรเอาไว้ จึงได้พากันย้ายพระบางออกจากวัดพระธาตุท่าอุเทน ไปอยู่วัดไตรภูมิตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
บุญบารมีสูง
หลวงปู่สีทัตถ์ ท่านเป็นพระที่มีบุญญาบารมีสูงยิ่งจริง ๆ และท่านมีอภินิหารแก่กล้ามาก ท่านสามารถก่อสร้างพระธาตุต่าง ๆ สำเร็จมาแล้วหลายแห่ง เช่น

๑. พระธาตุท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
๒. พระธาตุพระพุทธบาทบัวบก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
๓. พระธาตุพระพุทธบาทโพนฉัน ประเทศลาว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้าง "พระธาตุท่าอุเทน" นั้น หลวงปู่สีทัตถ์ท่านมีความสามารถสร้างเหมือน "พระธาตุพนม" สมัยก่อนได้ทั้ง ๆ ที่ฐานรองรับก็เพียงขุดหลุมแล้วใส่หินนางเรียง หรือหินแก้วนางฝาน เป็นฐานรองรับพระธาตุซึ่งยังไม่ทรุดแต่ประการใด และมีอายุยาวนานมากว่า ๗๐ ปีแล้ว
นับว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์มิใช่น้อยที่คนในสมัยนี้คงไม่มีบารมีก่อสร้างได้เช่นท่าน เพราะการนำเอา "หินแก้วนางฝาน" มารองรับองค์พระธาตุได้นี้ นับว่าเป็นอภินิหารอันแก่กล้าของท่านเหนือโลกจริง ๆ
ข่าวลือ
ในระหว่างที่หลวงปู่สีทัตถ์ทำการก่อสร้างองค์พระธาตุท่าอุเทนนั้น (ในราว พ.ศ. ๒๔๕๖) ได้มี "พระครูสมุห์วรคณิสรสิทธิการ" ซึ่งทางฝ่ายคณะสงฆ์จากกรุงเทพฯ ได้แต่งตั้งให้เป็นผู้แทนหัวหน้าสงฆ์ มาตรวจการทางภาคอีสา
ครั้นมาถึงจังหวัดหนองคายได้ข่าวว่า หลวงปู่สีทัตถ์เป็นผู้มีอิทธิพลมาก และแสดงปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ได้ เช่น ล่องหนหายตัว ย่อแผ่นเดินให้แคบเข้า และ ข้ามแม่น้ำโขงได้โดยไม่ต้องใช้เรือ มีผู้คนเลื่อมใสมากและได้ซ่องสุมผู้คนเพื่อจะกบฏต่อกรุงเทพฯ พระคูรสมุห์วรฯ จึงคิดจะมาจับเอาตัวท่านหลวงปู่ลงไปกรุงเทพฯ
ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นข่าวลือที่เกิดขึ้น เพราะหลวงปู่ท่านเป็นคนสุภาพอ่อนโยน รักความสงบ และถ่อมตนอยู่เสมอเป็นผู้ตั้งอยู่ในสุจริตปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย จึงทำให้มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสท่านมาก
หลวงปู่ท่านไม่ได้แสดงปาฏิหาริย์ ท่านตั้งใจสร้างพระธาตุเจดีย์โดยบริสุทธิ์ใจ แต่ก็มีผู้ไม่หวังดีใส่ร้ายท่าน ซึ่งเรียกว่าเป็นตัวมารโดยแท้
พระครูสมุห์วรฯ เมื่อโดยสารเรือล่องลงมาจากจังหวัดหนองคายมาถึงท่าอุเทนแล้ว ก็จอดหรือตรงท่าวัดกลาง ซึ่งขณะนั้นมีหาดทรายติดกับตลิ่งฝั่งท่าอุเทนยื่นไกลออกไปสู่กลางแม่น้ำโขงประมาณ ๑๐ เส้น และเมื่อพระครูสมุห์วรฯ มาถึงก็มีข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนออกมาให้การต้อนรับพอสมควร
ท่านได้ขึ้นไปวัดอรัญญวาสี เพื่อจะจับเอาหลวงปู่สีทัตถ์ แต่ก็ไปไม่ถึงวัด ไปถึงแค่หน้าที่ว่าการอำเภอก็แวะเข้าไปพักอยู่ที่นั่น เมื่อมีผู้ไปถามท่านว่า “ทำไมไม่ไปให้ถึงวัด”
ท่านก็ตอบว่า “กลัวพระสีทัตถ์จะสั่งให้ลูกน้องทำอันตราย ไม่มาดอก"
พระคูรองค์นั้นได้โทรเลขให้ พระพนมนราฯรักษ์ (อุ้ย นาครทรรพ) ผู้ว่าฯ นครพนมในสมัยนั้น ให้ขึ้นมาจับเอาตัวหลวงปู่สีทัตถ์เอง แต่กลับได้รับคำตอบกลับไปว่า
“ท่านอาจารย์สีทัตถ์มิได้คิดกบฏซ่องสุมผู้คนอะไรเลย หากแต่ท่านสร้างพระธาตุเจดีย์และมีผู้คนมาจากอำเภอและจังหวัดต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เดียงเดินทางมาช่วยท่าน โดยหวังผลในส่วนกุศลเท่านั้น มิได้คิดเป็นอย่างอื่นดังที่พระคุณเจ้าเข้าใจ
และตัวท่านพระอาจารย์สีทัตถ์เองก็อยู่ในศีลธรรมอันดี รักความสงบไม่มีจิตคิดอิจฉาและชิงดีคนอื่น”
เมื่อพระครูสมุห์วรฯ ทราบความจริงเช่นนั้น จึงเดินทางต่อไปยังเมืองนครพนม เหตุการณ์ก็เป็นอันสงบไป
ส่วนทางฝ่ายวัดอรัญญวาสี เมื่อทราบข่าวว่ามีพระภิกษุมาจากกรุงเทพฯ จะมาจับเอาตัวหลวงปู่ซึ่งท่านก็ไม่ได้สะทกสะท้านแต่อย่างใด ท่านยังสั่งให้พระลูกศิษย์เตรียมปูอาสนะให้ด้วย และท่านก็ยังคงทำงานก่อสร้างพระธาตุของท่านไปเรื่อย ๆ
ต่อมาได้มี พระอาจารย์ปาน ซึ่งมาจากบ้านใหม่ ดอนสังคี อำเภอโพนพิสัย กับ พระอาจารย์ยอดแก้ว และ พระอาจารย์ปิ่น ได้มาขอสู้แทนหลวงปู่ซึ่งท่านก็กล่าวว่า
“พระคูรสมุห์ฯ ไม่มาดอก อย่าวุ่นวายไปเลย” และก็ไม่มาจริง ๆ
หมดไหแล้ว
เรื่องอภินิหารที่เกิดจากบุญญาบารมีของผู้สร้าง คือหลวงปู่สีทัตถ์นี้ได้มีผู้กล่าวกันว่า ได้แสดงอภินิหารด้วยการเรียกปลาร้ามาเลี้ยงคนงานที่มาก่อสร้างองค์พระธาตุอย่างอัศจรรย์ยิ่ง ซึ่งเรื่องมีอยู่ว่า ในการสร้างพระธาตุท่าอุเทนนั้น อาหารหลักที่จะนำมาเลี้ยงคนทั่วไปก็คือ ปลาแดก (ปลาร้า) กับผักสด และปลาแห้ง
หลวงปู่สีทัตถ์ท่านได้ตั้งโรงครัวเพื่อให้คนงานที่ออกแรงปั้นอิฐ (ดินจี่) เผาอิฐ ได้รับประทานกัน ซึ่งมีจำนวนเป็นร้อย ๆ (รวมทั้งพระภิกษุสามเณรด้วย)
เย็นวันหนึ่ง หลวงปู่ได้เดินตรวจดูความเรียบร้อยของงานที่ผ่านไปวันหนึ่ง ๆ และท่านได้มายืนคุยกับญาติโยมที่กำลังพากันรับประทานอาหารเย็นอยู่ พวกแม่ครัวจึงพากันนมัสการท่านว่า
“วันนี้ปลาร้าหมดไหแล้วพรุ่งนี้จะไม่มีปลาร้าประกอบอาหารอีก”
หลวงปู่ท่านได้ยินแล้วก็ไม่ตอบอะไรได้แต่ยิ้ม ๆ และหัวเราะหึ ๆ ในลำคอเท่านั้น และท่านได้เดินมาดูไหปลาร้าที่ว่างเปล่ากว่า ๑๐ ไห แต่ท่านก็ไม่ได้แสดงอาการวิตกกังวล หรือมีคำสั่งในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด ทำให้พวกแม่ครัวพากันห่วงยิ่งขึ้นและคิดไปว่า
“เอ... หลวงปู่เรานี่ จะเอาอย่างไรนะ ปลาร้าหมดไห บอกให้รู้ก็ทำเป็นเฉย ๆ อยู่ จะเอาอย่างไรก็ดี จะให้ทำอย่างไรก็ไม่บอก”
ก่อนที่หลวงปู่ท่านจะเดินจากไป ท่านก็พูดเปรย ๆ ขึ้นว่า “กินข้าวกินปลากันไปเถอะแล้วจะมีคนเอามาให้”
คำพูดของหลวงปู่ครั้งนั้น ทำให้พวกแม่ครัวพากันฉงนอยู่มิใช่น้อย จากนั้นต่างก็ช่วยกันเก็บล้างถ้วยชามทำความสะอาด แล้วปิดประตูโรงครัวเพื่อกันไม่ให้สุนัขหรือแมวเข้าไปรบกวนแล้วก็พากันเข้าไปนอนเหตุอัศจรรย์
พอวันรุ่งขึ้นพวกแม่ครัวก็พากันมาติดไฟนึ่งข้าวเหนียวเพื่อเตรียมไว้ให้พวกที่สร้างพระธาตุได้กินกันก่อนทำงาน ปรากฏการณ์อันแปลกประหลาดก็เกิดขึ้นแก่แม่ครัวได้อัศจรรย์กันไปตาม ๆ กัน เพราะบรรดาไหปลาร้าที่ว่างเปล่า
เมื่อเย็นวานนี้ กลับมีปลาร้าเต็มไหหมด สร้างความฉงนสนเท่ห์แก่ทุกคนที่พบเห็นเป็นอย่างมาก จึงได้บอกต่อ ๆ กันไปให้มาดูความแปลกมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้น เมื่อทุกคนมาเห็นเข้ากับตาต่างก็พากันงึด (อัศจรรย์) เป็นที่สุด
พอสว่างได้เวลาที่พระจะออกบิณฑบาต ต่างก็พากันไปกราบนมัสการให้หลวงปู่ทราบว่า ที่พวกเขาตกใจว่ากลัวจะไม่มีปลาร้ากินในวันนั้นปลาร้าได้มีอยู่เต็มไปหมดทุกไหแล้ว และต่างก็สอบถามหลวงปู่ว่าปลาร้ามีมาได้อย่างไร ใครเป็นผู้ให้มา ทำไมจึงมีมาได้
หลวงปู่ท่านไม่ตอบเช่นเคย ท่านหยิบเอาบาตรได้แล้วก็จะออกไปบิณฑบาตตามที่เคยปฏิบัติมา เพียงแต่วางหน้าเฉย ๆ และท่านได้เปรยขึ้นว่า
“เออ...มีก็ดีเล้ว จะได้กินกันอีก ทำงานกันต่อไปเถอะ”
ข้ามมายังไง
ในประวัติของเมืองท่าอุเทนได้มีผู้บันทึกถึงเรื่องหลวงปู่ว่าหลวงปู่ท่านข้ามโขง (แม่น้ำโขง) โดยไม่ต้องใช้เรือ เหตุนี้เกิดขึ้นที่อำเภอบ้านแพง ซึ่งสมัยนั้นเป็นเพียงตำบลหนึ่งเท่านั้น
จากปากคำของคนที่เชื่อถือได้ กล่าวกันว่าผู้เปิดเผยเรื่องอภินิหารของหลวงปู่ คือ อดีตครูใหญ่ตำบลหนึ่ง ซึ่งนายอำเภอแต่งตั้งให้ไปเป็นครูผู้ใหญ่ในตำบลที่มีผีปอบมาก ๆ เพื่อให้ไปปราบผีและได้ผลเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง
บรรดาผีที่เข้าสิงคนอยู่นั้น ถ้าได้เห็นครูคนนี้ขึ้นไปบนบ้านเท่านั้น ก็ร้องเสียงหลงทันที “ออกแล้ว ยอมแล้ว”
ในปัจจุบันท่านผู้นี้อายุ ๘๓ ปี คือ "อาจารย์ทอน กิตติศรีวรพันธุ์" แห่งบ้านเนินคนึง อำเภอบ้านแพง ในปัจจุบัน
อาจารย์ทอนได้เล่าให้ผู้ใกล้ชิดฟังว่า ในสมัยนั้นเขาได้พบกับสามเณรตัวเล็ก ๆ องค์หนึ่งซึ่งเป็นผู้ติดตาม หลวงปู่สีทัตถ์ ท่านออกเดินธุดงค์เพื่อแสวงหาสัจธรรมตามป่าเขาลำเนาไพรในระยะใกล้ ๆ
เณรน้อยองค์นั้นก็ติดตามไปเพื่อปรนนิบัติท่าน เพื่อเป็นการเริ่มฝึกหัดการเจริญวิปัสสนากรรมฐานกับท่าน สามเณรองค์นี้ได้ถึงแก่มรณภาพไปแล้ว ก่อนที่จะมรณภาพ ก็ได้เล่าเรื่องหลวงปู่ให้ฟังว่า
“วันหนึ่งหลังจากฉันอาหารเช้าแล้ว หลวงปู่จะพาข้ามไปฝั่งลาวเพื่อไปแสวงหาพระอาจารย์ดังทางฝั่งโน้น
หลวงปู่ท่านได้พาเดินเลาะท่าเรือที่จะข้ามไปแต่ก็ไม่มีสักลำ ท่านพาเดินจนเหนื่อยจึงได้พบเรือแต่ไม่มีคนพายข้ามไป เณรน้อยจึงบอกกับหลวงปู่ว่า
“ขอพักก่อนเถอะ เพราะเดินเหนื่อยแล้ว ผมเบื่อและเมื่อยเต็มที”
หลวงปู่ท่านกล่าวกับเณรน้อยว่า “เฉย ๆ ไว้ ต้องไปให้ได้หลวงปู่จะพาไปเอง”
จากนั้นท่านก็สั่งให้กลับหลังหัน แล้วให้ยืนนิ่ง ๆ พร้อมกับให้หลับตาให้สนิทจริง ๆ
ขณะที่สั่งหลวงปู่ท่านอยู่ด้านหลัง และอยู่ห่างกันประมาณวาเศษ ๆ พอหลวงปู่ท่านสั่งแล้วเณรน้อยก็หลับตาตามที่ท่านสั่ง
เณรก็คิดอยู่ในใจว่าหลวงปู่ท่านจะพาเราไปอย่างไรกันหนอพร้อมกับระลึกและจดจ่ออยู่ว่าเมื่อไรหลวงปู่ท่านจะให้ลืมตาสักที เมื่อหลับตาแล้วก็มืดมิดมองไม่เห็นอะไร ทันใดนั้นเองหลวงปู่ก็พูดเป็นเสียงธรรมดาว่า
“เอ้า..ถึงแล้ว ลืมตาได้”
สามเณรน้อยลืมตาขึ้น และได้เห็นตัวเองกับหลวงปู่มายืนอยู่ที่ฝั่งประเทศลาวเสียแล้ว เมื่อมองดูที่ริมน้ำก็ไม่เห็นมีเรือเลย ปาฏิหาริย์แท้ ๆ ด้วย ความแปลกประหลาดและพิศวง ทำให้เณรน้อยผู้คอยอุปัฏฐากท่านอดรนทนไม่ไหว ใคร่อยากจะรู้ว่า หลวงปู่ท่านทำอย่างไรนะ ถึงได้ข้ามแม่น้ำโขงมาได้ จึงได้เอ่ยถามขึ้นว่า
“หลวงปู่ครับ เราข้ามมาได้อย่างไร ใครดลบันดาลให้”
แทนที่หลวงปู่ท่านจะตอบถึงสาเหตุที่สามารถข้ามแม่น้ำโขงมาได้ ท่านกลับตอบเป็นเชิงดุ ๆ ว่า “ไม่ใช่เรื่อง เอาล่ะ ไปกันได้แล้ว” ทำให้เณรน้อยยิ่งงงใหญ่ พลางก็เดินตามหลังหลวงปู่ท่านไปเร้นกาย - หายตัว
จากปากคำบอกเล่าในบันทึกของ "อดีตนายอำเภอ" ซึ่งได้รับคำไขขานบอกเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ของเมืองท่าอุเทนเล่าให้ฟังว่า หลวงปู่ท่านหายตัวได้และย่อแผ่นดินจากกว้างให้แคบได้ เช่นเมืองท่าอุเทนอยู่ฝั่งไทย เมืองปากหินปูนอยู่ฝั่งลาว โดยมีแม่น้ำโขงกั้นกลางอยู่ แต่หลวงปู่ท่านก็มีความสามารถเดินข้ามได้อย่างสบาย
มีเรื่องเล่าว่าในสมัยนั้นฝั่งลาวกับฝั่งไทยมีความรักใคร่กันดี เมื่อมีงานบุญก็จะบอกกล่าวถึงกันเป็นประจำ แม้จะมีแม่น้ำโขงขวางกั้นอยู่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด
พระเณรจะถูกนิมนต์ให้ไปร่วมทำบุญและไปกันเป็นคณะ ซึ่งหลวงปู่ท่านก็กำลังมีชื่อเสียงโด่งดัง ท่านก็ถูกนิมนต์ไปด้วยเสมอ เพราะชาวฝั่งเมืองหินปูนต้องการชมบารมี และจะได้เห็นหน้าเห็นตาท่านชัด ๆ สักที
เมื่อญาติโยมได้นิมนต์พระสงฆ์องค์เณรเรียบร้อยแล้วก็ได้พากันไปนิมนต์หลวงปู่สีทัตถ์ ซึ่งขณะนั้นท่านกำลังสั่งและควบคุมพวกช่างสร้างพระธาตุท่าอุเทนอยู่โดยขอนิมนต์ให้ท่านไปพร้อม ๆ กันหลาย ๆ รูปและหลายลำเรือและกล่าวกับท่านว่า
“ชาวเมืองปากหินปูนกำลังรออยู่ ขอให้หลวงปู่ลงเรือไปด้วยกันให้จงได้ เพราะที่เรือได้เตรียมปูเสื่อน้อยให้สำหรับหลวงปู่อยู่แล้ว เพื่อจะได้ไปทันเจริญพระพุทธมนต์ก่อนเพลในโบสถ์ วัดปากหินปูน เสร็จแล้วก็จะได้ให้หลวงปู่ร่วมฉันเพลกับพระรูปอื่น ๆ ด้วย”
หลวงปู่ท่านกล่าวกับญาติโยมว่า 
“ไปก่อนเถอะ จะสั่งเสียมอบหมายการงานให้ช่างสร้างพระธาตุท่าอุเทนเรียบร้อยแล้ว จะรีบตามไปให้ทันทีหลัง พวกญาติโยมก็พากันคะยั้นคะยออยู่หลายครั้ง หลวงปู่จึงหันหน้ามาบอกว่า “ไปเถอะ ไปก่อนเถอะ จะตามไปให้ทันทีหลัง ไม่ต้องห่วง”
จากนั้นญาติโยมก็พากันลงเรือข้ามไปปากหินปูน พอไปถึงฝั่งปากหินไน ที่วัดกำลังมีงานผู้คนก็มาก ญาติโยมได้พาพระเณรจากฝั่งไทยเข้าโบสถ์
แต่เมื่อทุกคนมองเข้าไปในโบสถ์ ก็เกิดความสงสัยเป็นอย่างยิ่งเพราะพระเณรของเมืองปากหินปูน ต่างก็นั่งห้อมล้อมหลวงปู่สีทัตถ์อยู่อย่างเนืองแน่น สร้างความประหลาดใจไปตาม ๆ กัน เพราะเรือที่ตามมาติด ๆ กันมิได้เห็นมีสักลำ จะเข้าไปถามดูว่าท่านมาได้อย่างไรก็ไม่มีโอกาส เพราะมีพระอยู่มาก และกำลังประกอบกิจทางศาสนาอยู่
เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ตอนบ่าย ๆ ญาติโยมก็พากันเดินทางกลับมายังเมืองท่าอุเทน ซึ่งหลวงปู่ท่านก็กลับมาด้วย พอมาถึงวัด ญาติโยมที่ฉงนสนเท่ห์เป็นอย่างมาก เพื่อให้หายสงสัยจึงไปกราบนมัสการถามหลวงปู่ว่า
“หลวงปู่ไปถึงวัคปากหินปูนก่อนได้อย่างไร”
ซึ่งหลวงปู่ท่านก็ตอบไปโดยเลี่ยง ๆ ว่า“ก็ตามกันไปนั่นแหละ ไม่เห็นหรือ ?” จากนั้นหลวงปู่ท่านก็พูดคุยไปในเรื่องอื่น ๆ อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างพระธาตุว่า “งานของเรายังมีอีกมาก ช่วยกันเข้าจะได้เสร็จ ๆ ไป”มรณกาล
ต่อมาภายหลังเมื่อเสร็จจากการก่อสร้าง "พระธาตุบัวบก" แล้ว ท่านก็ข้ามฝั่งโขงไปถึงธุดงคกรรมฐานอยู่ในป่าประเทศลาว หลังจากนั้นก็ได้มาสร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาท (จำลอง) ที่บ้านโพนฉัน ซึ่งการก่อสร้างก็สำเร็จไปด้วยดี หลวงปู่ท่านได้อยู่ที่วัดบ้านโพนสันอีก ๖ ปี ก็มรณภาพ ณ ที่วัดแห่งนั้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๓ สิริอายุได้ ๗๕ ปีพอดี
ก่อนมรณภาพ หลวงปู่ท่านสั่งเอาไว้ว่า
“เมื่อเผาศพเสร็จแล้วให้เอากระดูกของท่านไปทิ้งลงในแม่น้ำโขงให้หมด ”
ตังนั้น หลังจากเสร็จสิ้นพิธีศพของท่านแล้ว บรรดาศิษย์ทั้งหลายจึงนำอัฐิของท่านทิ้งลงในแม่น้ำโขงจนหมดสิ้น
ในชีวิตของหลวงปู่สีทัตถ์พระผู้ใฝ่ในธรรมแห่งเมืองท่าอุเทน ท่านได้ออกเดินธุดงค์จงกรมไปหาความจริงถึงประเทศพม่า ลาว และทั่วภาคเหนือ-อีสาน ซึ่งมีสภาพเป็นป่าเขาลำเนาไพร อันเป็นสถานที่ยินดี เหมาะที่จะบำเพ็ญพลังจิต โดยมิได้ย่อท้อต่อภูมิประเทศและดินฟ้าอากาศแต่อย่างใด
จิตใจของท่านจึงมั่นคง ไม่หวั่นไหว มุ่งแต่จะแสวงหาความจริงอันเป็นความจริง ดังคำสอนของพระพุทธรูปองค์ ท่านจึงเป็นพระอริยสงฆ์ที่ควรค่าแก่การยกย่องเป็นอย่างยิ่งองค์หนึ่ง

วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556

272: น้อมสักการะพุทธวิหาร ณ ภูทอก จ.บึงกาฬ


วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2556

271: ติดตามองค์พ่อแม่ครูอาจารย์โปรดโยมพ่อที่หนองคาย




วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2556

270: องค์พ่อแม่ครูอาจารย์บิณฑบาต โดยมี นรธ.ตามเดินบาตร


วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2556

269: ธุดงค์ภูผาผึ้งวาระออกพรรษาปี ๕๖


268: การบำเพ็ญกุศลในวันออกพรรษา





วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556

267: อภัย





อภัย ผู้รับก็ซึ้งใจ ผู้ให้ก็มีความสุข
อภัย ยังมิตรภาพให้ ให้ยั่งยืนตลอดไป
อภัย สิ่งที่ทำได้ยาก แต่ทรงคุณค่า เมื่อทำได้แล้ว
อภัย เป็นสิ่งที่ทำให้ เมตตาธรรม เกิดขึ้นในใจเรา
อภัย ทำลายดวงใจ ที่ลุ่มร้อน ให้ชุ่มเย็น

การให้อภัย คือคุณธรรม ที่ทำลายความอาฆาต พยาบาท
จองเวร ขุ่นข้อง หมองใจ โกรธ เกลียด ให้อันตรธานหายไป
ยังใจเราให้ โปร่ง โล่ง เบา สบาย สว่าง สงบ
ควรทำให้เกิดขึ้น เจริญขึ้น ในใจของเรา

องค์พ่อแม่ครูอาจารย์ พ.สุรเตโช
๗ ตุลาคม ๕๖

วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

266: สรณะอื่นของข้าพระพุทธเจ้าไม่มีแล้ว!



กว่าจะมีวันนี้ได้ ไม่ใช่ของง่าย...หากไม่มีองค์ครูบาอาจารย์ (องค์พ่อแม่ครูอาจารย์ พ.สุรเตโช) เมตตาขนาบสอนสั่ง ก็คงหลงและไหลไปกับโลก ไฉนเลยจักมีวันนี้ที่มั่นคงต่อคุณพระรัตนตรัยอันประเสริฐสูงสุดในทุกแดนโลกธาตุ

ขอนอบน้อมกราบ กราบ กราบ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ พระอริยสงฆ์องค์ครูบาอาจารย์ทั้งหลายด้วยความเคารพนบนอบแลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ...สำนึกในพระคุณยิ่ง สาธุๆๆ

4 ต.ค.56