วันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2556

205: 31 มีนาคม วันมหาเจษฎาบดินทร์



31 มีนาคม วันมหาเจษฎาบดินทร์

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุลาลัย (เจ้าจอมมารดาเรียม) เมื่อวันจันทร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือนสี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๓๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๓๓๐ มีพระนามเดิมว่า พระองค์ชายทับ เมื่อประสูติทรงดำรงพระอิสริยฐานันดรศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ ๑ การที่ทรงดำรงพระยศเพียงหม่อมเจ้าเพราะเป็นไปตามราชประเพณีว่าด้วยพระยศเจ้านายในราชสกุลซึ่งได้กำหนดไว้ว่าราชกุมารในสมเด็จเจ้าฟ้าที่ประสูติแต่สามัญชนมีพระยศเป็นหม่อมเจ้า แต่พระองค์ทรงเป็นหลานปู่พระองค์ใหญ่ซึ่งสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช (รัชกาลที่ ๑) โปรดปรานยิ่งนักที่ทรงมีความละม้ายแม้นในพระลักษณะท่าทางและพระวรกายจนเป็นที่รู้กันทั่วไป

ต่อมา รัชกาลที่ ๑ ได้พระราชทานเกียรติแด่พระหลานเธอเป็นพิเศษ เช่น โปรดให้ตั้งการพระราชพิธีเกศากันต์ (ตัดจุก) เมื่อพระชันษาครบปีที่จะเจริญพระเมาฬีตามประเพณีนิยมของไทย ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง

ในปี พ.ศ. ๒๓๔๙ เมื่อสมเด็จพระราชบิดา (รัชกาลที่ ๒) ทรงได้รับปอุปราชาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หม่อมเจ้าชายทับจึงดำรงพระอิสริยฐานันดรศักดิ์เป็นพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าชายทับ และเมื่อครบพระชนมพรรษาครบที่จะทรงผนวช ก็โปรดให้ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แม้ในขณะนั้นรัชกาลที่ ๑ จะทรงพระชรา มีพระชนมพรรษาถึง ๗๒ แล้วก็ยังทรงพระราชอุตสาหะเสด็จออกในพิธีทรงผนวชของพระเจ้าหลานเธอตลอดพิธีการ และโปรดให้เสด็จไปประทับจำพรรษาอยู่ ณ วัดราชสิทธาราม บางกอกใหญ่ ฟากธนบุรี

เมื่อสมเด็จพระราชบิดา (รัชกาลที่ ๒) เสด็จขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๒๓๕๒ พระองค์เจ้าชายทับทรงได้รับฐานันดรศักดิ์จากพระเจ้าหลานเธอเป็นพระเจ้าลูกยาเธอตามขัตติยราชประเพณี
ปี พ.ศ. ๒๓๕๖ ทรงได้รับสถาปนาให้ทรงกรมเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ โปรดให้ทรงกำกับราชการกรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมตำรวจว่าความฎีกา ซึ่งเป็นกรมสำคัญในราชการแผ่นดินทั้งสิ้น นอกจากนี้ ทรงแต่งสำเภาหลวงออกไปค้าขาย ณ ประเทศจีน และทรงนำเงินส่วนพระองค์ที่ได้จากการค้าขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวาย จนสมเด็จพระชนกนาถ (รัชกาลที่ ๒) ตรัสล้อเรียกพระองค์ว่า “เจ้าสัว”


ถ้าจะพิจารณาความหมายของพระนามกรม “เจษฎาบดินทร์” พอจะแยกขยายความได้ว่า เจษฎา แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ที่สุด บดินทร์ แปลว่า พระเจ้าแผ่นดิน รวมเป็นพระนามให้เป็นที่เข้าใจว่า ได้ทรงแต่งตั้งพระราชหฤทัยจะให้พระราชโอรสองค์นี้เป็น “พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นใหญ่” แต่จะเป็นความตั้งพระทัยหรือเพื่อพระราชทานนามให้เป็นมงคล เป็นพระราชสิริสวัสดิ์แด่พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ก็ตาม แต่ต่อมาพระองค์ทรงได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นใหญ่จริงๆ

ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) จะเสด็จสวรรคตนั้น มีพระอาการตรัสไม่ได้ จึงมิได้ทรงมอบราชสมบัติแก่พระราชวงศ์พระองค์ใด ครั้นเสด็จสวรรคตแล้วผู้สมควรจะได้รับราชสมบัติมีอยู่สององค์ คือ เจ้าฟ้าชายมงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) และพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทั้งสองพระองค์นี้เจ้าฟ้าชายมงกุฎมีสิทธิมากกว่าด้วยเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า แต่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นพระโอรสองค์ใหญ่ (ทรงมีพระชนมายุแก่กว่าพระองค์อื่น) ทั้งยังรับราชการเป็นอันมาก ดังนั้น พระราชวงศ์ขุนนางข้าราชการได้ปรึกษาตกลงกันถวายราชสมบัติแด่พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์

ทรงได้ราชาภิเษกเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๙ ปีวอก ตรงกับวันที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๓๖๗ พระชนมายุ ๓๗ พรรษา ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฎาบดินทร์พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระนามตามที่เรียกกันเป็นสามัญว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์จักรี

-------------------------------------------------------------------------------------------------------


พระราชลัญจกร ประจำรัชกาลที่ 3

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาเจษฏาบดินทร์ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี พระนามเดิมว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ หรือ พระองค์ชายทับ" ( 31 มีนาคม พ.ศ.2330 - 2 เมษายน พ.ศ.2394)

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และองค์แรกที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเรียม เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันจันทร์ แรม 10 ค่ำ เดือน 4 ปีมะแม เวลาค่ำ 10.30 นาฬิกา (สี่ทุ่มครึ่ง) ตรงกับวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330 ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกับเจ้าจอมมารดาเรียม ซึ่งภายหลังได้รับการสถาปนาเป็น กรมสมเด็จพระศรีสุราลัย เสวยราชสมบัติเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 9 ขึ้น 7 ค่ำ ปีวอก ซึ่งตรงกับวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 รวมสิริดำรงราชสมบัติได้ 27 ปี

ทรงมีเจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม 5 พระองค์ มีพระราชโอรส-ราชธิดา ทั้งสิ้น 51 พระองค์ เสด็จสวรรคต เมื่อวันพุธ เดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำ ปีกุน โทศก จุลศักราช 1212 เวลา 7 ทุ่ม 5 บาท ตรงกับวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 รวมพระชนมพรรษา 64 พรรษา

พระนามเต็ม
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระนามเต็มว่า "สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร์ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวไสย สมุทัยดโรมน สากลจักรวาลาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทราธาธิบดี ศรีสุวิบูลย คุณอถพิษฐ ฤทธิราเมศวร ธรรมิกราชาธิราช เดโชชัย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร โลกเชษฐวิสุทธิ มงกุฏประเทศคตา มหาพุทธางกูร บรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว"

พระปรมาภิไธยย่อ
พระปรมาภิไธยย่อ คือ การย่อพระปรมาภิไธยให้เหลือเพียง 3 ตัวอักษร โดยส่วนมาก มักใช้เป็น ตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ และ ตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธี และงานเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสสำคัญต่าง ๆ " จปร " มหาเจษฎาบดินทร ปรมราชาธิราช

วัดประจำรัชกาลที่ ๓
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร สำหรับวัดประจำรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
บางคนอาจคิดว่าเป็น วัดราชนัดดารามราชวรวิหาร เนื่องจากมีพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ อยู่ตรงบริเวณลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ใกล้ๆ กับวัดราชนัดดาราม แต่จริงๆ แล้ววัดประจำรัชกาลที่ ๓ คือ “วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร” หรือ “วัดราชโอรสาราม” หรือ “วัดราชโอรส”

วัดราชโอรสาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่มีมาก่อนสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ คือ เป็นวัดราษฎร์ที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เดิมเรียกว่า ‘วัดจอมทอง’ บ้าง ‘วัดเจ้าทอง’ บ้าง หรือ ‘วัดกองทอง’ บ้าง