วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

83: พระอริยบุคคล

พระอริยบุคคล

พระอริยบุคคลมี ๔ ประเภท คือ
พระอริยบุคคลประเภทที่ ๑ พระโสดาบัน คือท่านผู้ที่เพียรปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนวิปัสสนาญาณบังเกิดขึ้น ทำให้กิเลสต่าง ๆ เบาบางอย่างมากมาย

และสามารถละ สังโยชน์ คือ กิเลสพวกหนึ่งที่ผูกมัดสัตว์ทั้งหลายไว้กับภพ ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่เรื่อยไป ได้อย่างสิ้นเชิง ๓ ประการ ในสังโยชน์ ๑๐ ประการ คือ

๑. สักกายทิฐิ คือการยึดถือเป็นตัวตนผิด ๆ ในรูปนามนั้น ๆ ความเห็นว่าร่างกายนี้เป็นของตน
๒. วิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัย ความไม่แน่ใจใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
๓. สีลัพพตปรามาส คือการถือข้อวัตรปฏิบัติผิดไม่ถูกทาง ความเชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างงมงาย
ทั้ง ๓ ประการข้างต้นพระโสดาบันละได้อย่างเด็ดขาด

พระโสดาบัน ประกอบไปด้วยองค์ ๔ ประการ คือ
๑. มีความเคารพในพระพุทธเจ้า
๒. มีความเคารพในพระธรรม
๓. มีความเคารพในพระสงฆ์
๔. มีศีลบริสุทธิ์ คำว่าศีลของพระโสดาบันก็ต้องหมายเอาถึงกรรมบถ ๑๐ ด้วย

กรรมบถ ๑๐
ทางกายมี ๓ คือ
๑. ไม่ฆ่าสัตว์
๒. ไม่ลักทรัพย์
๓. ไม่ประพฤติผิดในกาม

ทางวาจา มี ๔ คือ
๑. ไม่พูดปด
๒. ไม่พูดคำหยาบ
๓. ไม่พูดส่อเสียดยุยงให้เขาแตกร้าวกัน ไม่นินทา
๔. ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล

ทางใจ มี ๓ คือ
๑. ไม่คิดอยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่น โดยไม่ชอบธรรม
๒. ไม่พยาบาทปองร้าย ไม่คิดประทุษร้ายผู้อื่น
๓. มีความเห็นถูกคือ สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรงตามที่พระพุทธเจ้าสอน ไม่คัดค้าน

กรรมบถ ๑๐ เป็นทั้งศีล เป็นทั้งธรรม และมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ นี่เป็นองค์ของพระโสดาบัน

คุณวิเศษที่พระโสดาบันได้รับมีดังนี้
๑. สามารถเข้าผลสมาบัติตามฐานของพระโสดาบันได้
๒. จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิ คือ สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย และสัตว์นรก อีกเลย เพราะกิเลสที่จะก่อให้เกิดทำอกุศลกรรม ที่ร้ายแรงที่ต้องให้ไปเกิดในอบายภูมิ ย่อมไม่มีอีกแล้ว
๓. จะเกิดในภพมนุษย์ หรือ สวรรค์ หรือ พรหม ตามบุญกุศล หรือตามกำลังสมาธิของแต่ละท่าน
4. จะมาเกิดในภพมนุษย์อย่างมากที่สุดไม่เกิด ๗ ชาติ ก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์เข้าสู่พระนิพพาน.

พระอริยบุคคลประเภทที่ ๒ พระสกทาคามี หมายความถึงว่า อารมณ์จะต้องเลยพระโสดาบันมาแล้ว เพราะว่าพระโสดาบันทรงคุณธรรม ๔ ประการ คือ นึกถึงพระพุทธเจ้า เคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ และมีศีลบริสุทธิ์ ส่วนที่เกินก็คือ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ นี่หมายถึงว่ามีความมั่นคงจริง ๆ

อารมณ์ของพระสกทาคามี จิตจะละเอียดลงไปกว่านั้น คือ ระงับโลภะ (ความโลภ) ระงับโทสะ (ความโกรธ) ระงับโมหะ (ความหลง) ให้เบาบางลง แต่ยังไม่หมด คือความโลภยังมีอยู่ แต่ว่าเพลาลงไป ความโกรธยังมีอยู่ ยับยั้งไว้ได้เร็ว ความหลงยังมีอยู่ แต่มีอาการเพลาตัว เป็นอันว่าทั้งความโลภ ความโกรธ ความหลงมันบาง บางกว่าพระโสดาบัน ท่านจึงเรียกว่า สกทาคามี

สำหรับสังโยชน์ก็มีความประพฤติเหมือนกัน แต่จิตละเอียดกว่า

คุณวิเศษที่พระสกทาคามีได้รับมีดังนี้
๑. สามารถเข้าผลสมาบัติตามฐานของพระสกทาคามีได้
๒. จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิ คือ สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย และสัตว์นรก อีกเลย เพราะกิเลสที่จะก่อให้เกิดทำอกุศลกรรม ที่ร้ายแรงที่ต้องให้ไปเกิดในอบายภูมิ ย่อมไม่มีอีกแล้ว
๓. จะเกิดในภพมนุษย์ หรือ สวรรค์ หรือ พรหม ตามบุญกุศล หรือตามกำลังสมาธิของแต่ละท่าน
๔. จะมาเกิดในภพมนุษย์อย่างมากที่สุดเพียง ๑ ชาติ ก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ดับขันธ์ปรินิพพาน.

พระอริยบุคคลประเภทที่ ๓ พระอนาคามี สามารถละสังโยชน์ได้อีก ๒ สังโยชน์อย่างสิ้นเชิง ได้แก่
๔. กามราคะ คือ ความติดใจในกามคุณ อันได้แก่รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
๕. ปฏิฆะ คือ ความหงุดหงิดในใจด้วยอำนาจโทสะ ได้อย่างเด็ดขาด ดำรงฐานะเป็นพระอนาคามีบุคคล

คุณวิเศษที่พระอนาคามีได้รับมีดังนี้
๑. สามารถเข้าผลสมาบัติตามฐานของพระอนาคามีได้ แต่ท่านที่เคยฝึกสมาธิถึงฌานที่ ๔ ท่านสามารถเข้านิโรธสมาบัติได้ หรือบางท่านบังเกิดมีวิชา ๓ อภิญญา ๕ สามารถสำแดงฤทธิ์เดชได้
๒. ถ้ายังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์จะไปเกิดในพรหมโลก ชั้นสุทธาวาสพรหมอย่างเดียว จะไม่มาเกิดในมนุษย์โลกนี้อีกเลย แล้วจะบรรลุเป็นพระอรหันต์ ดับขันธ์ปรินิพพานบนสุทธาวาสพรหมนั้น

ชั้นสุทธาวาสพรหม เป็นชั้นของพระพรหมที่เป็นที่จุติของพระอนาคามีอริยบุคคลในพระพุทธศาสนาอย่างเดียวเท่านั้น

ซึ่งสามารถแบ่งลำดับชั้นในสุทธาวาสพรหมได้อีก ๕ ชั้น จากลำดับล่างไปสู่ชั้นสูง ดังนี้
๑. ชั้นอวิหาภูมิ
๒. ชั้นอตัปปาภูมิ
๓. ชั้นสุทัสสาภูมิ
๔. ชั้นสุทัสสีภูมิ
๕. ชั้นอกนิฏฐกาภูมิ
ซึ่งพระอนาคามีท่านจะไปจุติตามชั้นต่าง ๆ ตามกำลังพละ ๕ ของท่านที่เด่นชัด.

พระอริยะบุคคลประเภทที่ ๔ พระอรหันต์ สามารถตัดกิเลสทั้งหมดได้สิ้นเชิง กิเลสที่ตัดขาดโดยอรหัตมรรคได้แก่สังโยชน์ที่เหลืออยู่ ๕ อย่างคือ
๖. รูปราคะ คือ ความยินดีในรูปภพ
๗. อรูปราคะ คือ ความยินดีในอรูปภพ
๘. มานะ คือ ความสำคัญตน ถือตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่
๙. อุทธัจจะ คือ ความที่จิตฟุ้งซ่านไป ไม่สามารถตั้งอยู่อารมณ์เดียวได้นาน
๑๐. อวิชชา คือ ความไม่รู้ ความมืดหลงของจิต หรือ โง่ หรือ โมหะ ความหลงอันเป็นเหตุไม่รู้จริง

คุณวิเศษของพระอรหันต์ได้รับมีดังนี้
๑. สามารถเข้าผลสมาบัติตามฐานของพระอรหันต์ได้
๒. ไม่มีกิเลสเหลือในจิตใจแม้แต่เพียงนิดเดียว
๓. เมื่อดับขันธ์ต้องปรินิพพานอย่างเดียว

ประเภทพระอรหันต์ แบ่งตามกำลังสมาธิได้ 2 ประเภท

๑. เจโตวิมุตติอรหันต์ ได้แก่ท่านผู้ที่ได้ฌานมาก่อน แล้วมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ หรือท่านที่ปฏิบัติวิปัสสนาอย่างเดียว แต่เมื่อพระอรหัตมรรคจะอุบัติขึ้นนั้น ฌานก็อุบัติขึ้นในขณะนั้นเอง ด้วยบารมีที่สั่งสมมา ท่านเหล่านี้เรียกว่า ฌานลาภีบุคคล คือสำเร็จฌานสมาบัติ ได้วิชา ๓ อภิญญา ๖ มีคุณสมบัติแสดงฤทธิ์ทั้งหลายได้

๒. ปัญญาวิมุตติอรหันต์ ได้แก่พระอรหันต์ที่ท่านปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่างเดียวล้วน ๆ และฌานไม่มีเกิดขึ้นเลย พระอรหันต์เหล่านี้มีชื่อว่า สุกขวิปัสสโก ไม่สามารถที่จะแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้.